ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขประกาศเตรียมทำแผนอัตรากำลังคน ครอบคลุมบุคลากรทุกวิชาชีพ เผยออกจาก ก.พ. คงไม่ใช่วันนี้ เพียงแต่อยู่ในแผนงานในอนาคต

ตามที่บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขออกมาเรียกร้องการบรรจุตำแหน่งข้าราชการ และยังมีหลายพื้นที่ที่ยังขาดแคลนวิชาชีพในการทำงาน โดยเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2562 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขได้มีการประชุมเกี่ยวกับการเรียกร้องตำแหน่ง และความเป็นธรรมในสายวิชาชีพ โดยลงมติขับเคลื่อน 3 ประเด็นหลัก พร้อมยี่นขอเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย 1.เพิ่มความก้าวหน้า ชำนาญการพิเศษเลื่อนไหล และอาวุโสเลื่อนไหล เมื่ออายุใกล้เกษียณให้ทุกวิชาชีพ 2.การบริหารตำแหน่งว่าง ประเด็นการบรรจุทุกสายงาน อย่างเสมอภาคและเป็นธรรมและการทบทวนการยุบตำแหน่งบรรจุราชการบางสายงาน และ 3. การปฏิรูปเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน ค่าเวรโอที พนักงานกระทรวงสาธารณสุข เงินประจำตำแหน่งที่เสมอภาค เป็นธรรมกับทุกสายงานนั้น

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ในสังคมออนไลน์มีการเคลื่อนไหว โดยเฟซบุ๊ก เครือข่ายบุคลากร ก.สธ.เรียกร้องการปฏิรูปฯที่เป็นธรรม โพสต์ข้อความ ว่า “เครือข่ายบุคลากรสาธารณสุขเรียกร้องการปฏิรูปฯ ที่เป็นธรรม พร้อมสนองนโยบายปลัดสธ. พร้อมสนับสนุนประเด็นออกจาก ก.พ.โดยเร็ว” ปรากฏว่า มีผู้เข้ามาแชร์และแสดงความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแยกออกจาก ก.พ. และเรียกร้องให้ผู้บริหารดำเนินการ

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ว่า หลังจากแผนกำลังคนจะสิ้นสุดปี 2563 ขณะนี้ สธ.กำลังเตรียมจัดทำแผนขึ้นมาใหม่ โดยจะวิเคราะห์กำลังคนบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด ครอบคลุมทั้งแพทย์ พยาบาล สหสาขาวิชาชีพ ตลอดจน Back-office ฝ่ายทำงานสนับสนุนทั้งหมดว่า ว่ามีความจำเป็นเท่าไหร่ และต้องคำนวณค่า FTE (Full Time Equivalent) หรือการพิจารณาเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงาน โดยต้องคำนวณใหม่ให้ครอบคลุมทั้ง workload และ worktime ต้องเป็นอย่างไร อย่างที่ ทราบกันดีว่า จะเอาหมออดหลับอดนอนมา 6 ชั่วโมง เพื่อไปทำการผ่าตัดก็ไม่ได้

“ดังนั้น การคำนวณต้องอยู่ในแผนทั้งหมด ส่วนรูปแบบในการจ้างงานก็มีหลายแบบ เรามีข้าราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานราชการ จึงมีรูปแบบที่ว่าหากกระทรวงสาธารณสุข ทำเป็นแบบมาดูแลบุคลากรในรูปแบบเดียวกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์เหมือนๆกันก็อาจเป็นรูปแบบที่เสนอได้ แต่ไม่ใช่ว่า วันนี้จะออกจาก ก.พ.เลย คงไม่ใช่ เพียงแต่อยู่ในแผนงานในอนาคต” นพ.สุขุม กล่าว