ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ปัญหายาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) ที่หายออกจากระบบจำนวนมาก และเป็นข่าวอยู่ในสื่อทุกแขนงมากนานกว่า 1 เดือน กระทั่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องเพิ่มมาตรการควบคุมการใช้และการกระจายยาชนิดนี้อย่างเข้มข้นนั้น สะท้อนให้เห็นว่าระบบการบริหารจัดการยาในประเทศไทย ทั้งเรื่องราคายา การกระจายยา การใช้ยา และการติดตามตรวจสอบการใช้ยายังมีปัญหาอยู่มาก ทั้งๆที่ปัจจุบันพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ดังตัวเลขที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยพบว่า ในปี 2553 ประเทศไทยมีมูลค่าการบริโภคยากว่า 130,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการลงทุนด้านสุขภาพ และสูงกว่าอัตราการเดิบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ 

ทั้งนักวิชาการ เภสัชกร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบยาไทย คาดคะเนว่าหากรัฐบาลไม่เร่งดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จะยิ่งเกิดผลเสียต่อประเทศชาติ เนื่องจากในอนาคตปัญหาอาจไม่จบเพียงแค่ควบคุมยาซูโดอีเฟดรีนอย่างเดียว ดังนั้นลองมาดูกันว่าเสียงเหล่านั้น มีความคิดเห็นและเสนอออกอย่างไรกับปัญหานี้  

รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ปัญหายาซูโดอีเฟดรีนทั้งสูตรเดี่ยวและสูตรผสม เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของสังคมไทย ถ้าเราตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงมีการเคลื่อนย้ายหรือสั่งซื้อยาผ่านโรงพยาบาล ก็ต้องตอบว่า เพราะยาในบ้านเราซื้อแต่ละแห่งราคาไม่เท่ากัน และยังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล ร้านขายยา คลินิก เมื่อไม่มีการดูแลให้มีราคาเท่าเทียมกัน ทั้งแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากซึ่งทำงานในโรงพยาบาลและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องยาดีก็รู้ว่าถ้าโรงพยาบาลจัดซื้อยาจะได้ราคาที่ถูกมากกว่าในท้องตลาดมาก ยกตัวอย่าง กรณียาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ถ้าโรงพยาบาลจะซื้อได้ในราคาเม็ดละไม่ถึง 1 บาท แต่ถ้าไปซื้อกันเองจากบริษัทยาจะได้ในราคาประมาณ 1 บาทเศษๆ ซึ่งเมื่อซื้อในจำนวนมากๆจะเห็นว่ามีส่วนต่างกันมากจริงๆ ดังนั้นแพทย์ เภสัชกร ส่วนหนึ่งที่ไปเปิดร้านขายยา คลินิก ก็ใช้ช่องทางนี้ไปซื้อหายาที่มีราคาถูกที่สุดมาขายในร้านขายยา หรือคลินิกของตัวเอง จึงทำให้เกิดการทุจริตอย่างที่เห็นกันอยู่ในข่าวขณะนี้

กรณีของยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนที่ตรวจพบว่าหายออกไปจากโรงพยาบาลหลายแห่งนั้น เชื่อว่าไม่ได้หายแล้วถูกนำเข้าไปสู่กระบวนการใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดทั้งหมดแน่นอน และถ้าถามว่ายาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนเป็นยาที่มีปัญหา เป็นยาไม่ดีใช่หรือไม่ ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ถึงเพิ่งมาตื่นควบคุมการใช้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่าความจริงยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนนั้นมีประสิทธิภาพดีมาก เป็นยาที่มีราคาถูก แต่สามารถรักษาอาการของผู้ป่วยได้ผลดี จึงทำให้ยาตัวนี้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจำนวนมาก  

วันนี้…เชื่อว่าถ้าตรวจสอบกันอย่างละเอียดจริงๆ ยังมียาอีกหลายตัวมาก โดยเฉพาะกลุ่มยารักษาโรคเรื้อรัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาราคาแพงจะมีกระบวนการจัดซื้อยาในลักษณะนี้กันหมด ก็เพียงแค่บอกว่าคุณหมอฝากซื้อ เจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าทำอะไร ใช้วิธีซื้อพ่วงกับโรงพยาบาลก็เอายาออกจากโรงพยาบาลได้ง่ายๆ แล้ว วิธีการแบบนี้ แม้จะบอกว่าไม่ได้ใช้เงินของโรงพยาบาล แต่เป็นลักษณะการซื้อพ่วง มันก็ยังคือ “ความไม่โปร่งใส” ซึ่งภาครัฐจะต้องเร่งแก้ไข และปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากเพราะระบบยาในบ้านเราโดยเฉพาะเรื่องการกระจายยายังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ที่บอกว่าเอายาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนไปทำยาบ้านั้น เชื่อว่าจริงๆ มันไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยาเสพติดมากมายอะไร แต่เนื่องจากยาตัวนี้เป็นยาราคาถูกและมีประสิทธิภาพที่ผู้บริโภคเชื่อว่ามีความจำเป็นต้องใช้ เมื่อมีการควบคุมไม่ให้ใช้ และหายาตัวอื่น คือ ยาเฟนิลเอฟริน (Phenylephrine) มาทดแทน ซึ่งเป็นยาที่ให้ประสิทธิผลในการรักษาด้อยกว่ายาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ในอนาคตจะทำให้ผู้บริโภคกินยามากขึ้น และจะเป็นปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง  

ปัญหาแบบนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาครัฐอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งเสนอว่าให้ดำเนินการ คือ 1.ต้องควบคุมราคายาให้เท่ากัน เพราะคนไทยก็รู้อยู่ชอบของถูก ยาที่ไหนถูกกว่าก็ไปซื้อที่นั่น มันจึงมีการบิดเบือนข้อมูลกันมาตลอด 2.จัดทำระบบฐานข้อมูลใหม่ เพราะทุกวันนี้ฐานข้อมูลระบบยาในประเทศไทยยังไม่แม่นยำและไม่ชัดเจน 3.ระบบตรวจสอบหรือกลไกการตรวจสอบที่มีอยู่แล้วต้องให้ความสำคัญและทำให้เข้มข้นมากขึ้น 

ทั้ง 2-3 ข้อเสนอนี้ เมื่อย้อนไปดูปัญหาก็พบว่า เริ่มจาก “ต้นน้ำ” คือเริ่มตั้งแต่มีการนำเข้ายามาใช้ในประเทศ ซึ่งจะต้องมีการขึ้นทะเบียนตำรับยา ถ้าเราดูแลให้ดีใช้ไม่มาก และใช้อย่างเหมาะสม การกระจายยาและการตรวจสอบยาก็จะง่ายขึ้น แต่วันนี้เรายังไม่ได้ตรวจสอบ “ความคุ้มค่าในประสิทธิผลของยา” ยกตัวอย่างง่ายๆ แต่เดิมมียารักษาอาการปวดข้อเข่า คนไข้ได้รับยาตัวนี้ไปใช้ ต่อมามียาตัวใหม่ที่รักษาอาการเดียวกันได้ ถ้าจะนำยาตัวใหม่มาใช้กับคนไข้ จำเป็นจะต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างยาตัวเก่ากับยาตัวใหม่ด้วยว่าประสิทธิผลของยาทั้ง 2 ตัวเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และต้องเปรียบเทียบเชิงราคาว่ายาแพงขึ้นคุ้มค่ากับการรักษาหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงวันนี้ไม่เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว เพราะเราเอายาเข้ามาหมด และบริษัทผู้ผลิตและนำเข้ายาก็มีการส่งเสริมการขายกันอย่างเอิกเกริก ที่สำคัญกฎหมายของไทยก็ยังเป็นกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่ทันต่อสถานการณ์ ในต่างประเทศนั้น การส่งเสริมการขายอย่างไม่สมเหตุสมผลก็มี แต่บางประเทศอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา จะมีกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทยาต้องปฏิบัติตามกติกา เช่น หากบริษัทยาใดมีการสนับสนุนให้ทุนศึกษาวิจัย ให้รางวัล ให้ทุนไปศึกษาดูงาน ให้ทุนจัดประชุมวิชาการหรือทำกิจกรรมใดๆ แก่บุคลากรทางการแพทย์ จะต้องมีการแสดงข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ ถามว่ามีความพยายามจะแก้ไขปัญหานี้หรือไม่ ตอบว่ามี แต่อาจจะยาก หรือทำได้ช้าในบ้านเรา แต่ก็ยังดีใจที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบนโยบายยาแห่งชาติ และมีแผนยุทธศาสตร์การเข้าถึงยาแล้วตั้งแต่ปี 2551 แม้จะยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็ตาม แต่ขณะนี้ปัญหายาซูโดอีเฟดรีนปะทุขึ้น จะเป็นตัวเร่งทำให้เห็นปัญหาชัดเจนขึ้น จึงเชื่อว่าในอนาคตรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาล ฯลฯ จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น  

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) 

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัญหายาซูโดอีเฟดรีน แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอในระบบการกระจายและตรวจสอบยา ตลอดจนความเหลื่อมล้ำในราคายาของประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงแต่กรณียาซูโดอีเฟดรีนที่เป็นปัญหา แต่ยังพบว่า ยากลุ่มสเตียรอยด์ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้มีการรายงานตัวเลข ก็มีปัญหาด้วย เพราะมีการสำรวจพบว่าตัวเลขที่รายงานกับที่มีอยู่ในท้องตลาดนั้นแตกต่างกันมาก แสดงว่าระบบการรายงานและตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีในกลุ่มยานอนหลับมิดาโซแลม (Midazolam) หรือยาโดมิคุม (Dormicum) ที่เป็นยาวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 ก็พบว่ามีความผิดปกติเนื่องจากมีตัวเลขซื้อขายทั้งประเทศถึง  4 ล้านเม็ดต่อเดือน ในจำนวนนี้เฉพาะกรุงเทพมหานคร ใช้ยาชนิดนี้มากถึงร้อยละ 50 แสดงว่าต้องมีปัญหาแน่นอน ซึ่งคาดว่าจะมีการลักลอบนำเข้า 

ดังนั้นถ้าจะมองเรื่องระบบยาของประเทศไทยเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น จะต้องมีเครื่องมือชี้วัด ซึ่ง กพย.ได้สร้างไว้ 7 ด้าน คือ 1.ธรรมาภิบาลของระบบยา คือ ความโปร่งใส ถูกต้อง รวมทั้งการมีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะคณะกรรมการยาจะต้องตรวจสอบให้ได้ว่ากรรมการแต่ละคนมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทยาหรือไม่ และจะต้องมีข้อพึงปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เสนอว่าทุกประเทศจะต้องทำ สำหรับในประเทศไทยนั้น ที่ทำค่อนข้างดีแล้วคือ เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่จะต้องเพิ่มเติมในส่วนของการติดตามผลด้วย และ กพย.เตรียมเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

2.การพึ่งตนเองด้านยาของประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบกว่าร้อยละ 95และยาสำเร็จรูปกว่าร้อยละ 50 ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากเพราะหากเกิดภาวะสงคราม หรือเกิดภัยพิบัติอาจทำให้ประเทศไทยขาดแคลนยาได้  3.ความปลอดภัยด้านยา ปัจจุบันมีการติดตามเฝ้าระวังการใช้ยาพบว่าคนไทยใช้ยามากขึ้น รวมทั้งระบบอาจไม่มีประสิทธิภาพ แม้จะมีระบบแล้วแต่ยังไม่มั่นใจว่าจะดูแลได้ครบถ้วน 4.ความเป็นธรรมในระบบยา ขณะนี้ประเทศไทยมีโครงการประกันสุขภาพ 3 กองทุน คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งต่างแยกบริหารจัดการและให้สิทธิประโยชน์แก่สมาชิกไม่เท่ากัน เป็นที่ชัดเจนว่าในส่วนของสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการนั้น ใช้งบประมาณปีละกว่า 60,000 ล้านบาท สมาชิกเพียง 5 ล้านคน แต่ใช้งบประมาณมากกว่าอีก 2 กองทุน ซึ่งมีสมาชิกรวมกันมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องพิจารณาต่อไปว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

5.คุณภาพยา เคยมีความพยายามของบริษัทยาข้ามชาติกล่าวหาว่ายาที่ผลิตในประเทศไทยตกมาตรฐาน กพย.ยอมรับว่ามาตรฐานยาไทยอาจไม่ได้ประสิทธิภาพ 100% แต่ถ้าเป็นที่ยอมรับได้ของหน่วยงานระดับสากล เช่น องค์การอนามัยโลก ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง และประเทศไทยจะต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ขณะนี้มีแนวโน้มว่าบริษัทยาข้ามชาติหลายราย พยายามส่งเสริมให้รัฐบาลสนับสนุนการใช้วัคซีน เพราะบริษัทยาข้ามชาติเหล่านี้ทราบดีว่าถ้าให้ยาก็จะสามารถให้ได้เฉพาะคนไข้เท่านั้น แต่หากส่งเสริมการใช้วัคซีนก็จะได้กับกลุ่มเสี่ยงทุกคน ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้มากกว่า ช่องทางนี้คือการทำกำไรของบริษัทยาข้ามชาติที่พยายามดำเนินการในขณะนี้ และประเทศไทยหากจะดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีนชนิดใดก็ตามจะต้องดูเรื่องความคุ้มค่าด้วย

6.การเข้าถึงยาจำเป็น เนื่องจากระบบสุขภาพของประเทศไทย ให้เข้าถึงยาจำเป็นในบัญชียาหลักแห่งชาติได้บางตัว แต่ปัญหาใหญ่คือ การมีสิทธิบัตร และในประเทศไทยระบบคุมราคายายังไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองราคายาให้ถูกลง ซึ่งผลต่อมาคือ ไทยจำเป็นต้องประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) แต่ในอนาคตประเทศไทยจะต้องไม่หลงกลเข้าสู่การให้บริษัทยาข้ามชาติประกาศสิทธิบัตรไม่มีวันตาย  และ7.การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล  ในประเทศไทย เรื่องนี้ถือว่าอ่อนแอมาก เพราะไม่มีระบบติดตามการใช้ยา และแม้จะมีแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักต่างคนต่างทำ ไม่มีฐานข้อมูล ยิ่งมีการส่งเสริมการขายก็ยิ่งทำให้มีการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผลมากขึ้น  

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยานั้น กำลังพิจารณาว่าหลังจากควบคุมการใช้ยาซูโดอีเฟดรีนอย่างเข้มข้นแล้ว ปัญหาจะทุเลาหรือไม่  หากไม่ทุเลาก็เตรียมจะยกระดับการควบคุมยากลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งมีประมาณ 40 ชนิด โดยเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้จำกัดวงการครอบครองยาชนิดดังกล่าวด้วยการสั่งห้ามบริษัทยาทั้งที่ผลิตและนำเข้างดจำหน่ายยาชนิดนี้ และให้หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม และหน่วยงานกองทัพ ผลิตยากลุ่มดังกล่าวใช้เองภายในประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้การตรวจสอบง่ายขึ้น  

ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท

ปัจจุบันระบบยาในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ทุกวันนี้จะนำยาอะไรเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ง่ายมาก เพียงแค่ไปขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่ในส่วนของกระบวนการรายงานและตรวจสอบการใช้ยานั้น ยังมองว่าไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรณียาซูโดอีเฟดรีนสะท้อนปัญหาชัดเจนว่าระบบยาในบ้านเรายังอ่อนแอ และไม่เพียงแต่ยาตัวนี้เท่านั้นที่มีปัญหา แต่ยังมีอีกหลายตัวที่มีแนวโน้มจะมีปัญหาในอนาคตหากภาครัฐยังไม่ดำเนินการใดๆ เช่น ยาสเตียรอยด์ แม้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะให้มีการรายงานตัวเลขการใช้ แตพบว่ายังมียาสเตียรอยด์ปะปนอยู่ในท้องตลาด และมีปริมาณการใช้ที่สูงกว่าตัวเลขที่มีการรายงานไว้ในเอกสาร นั่นแสดงว่าประสิทธิภาพในการรายงานและตรวจสอบยังค่อนข้างต่ำมาก ประเด็นนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอาจโต้แย้งว่าเป็นเพราะมีบุคลากรน้อย จึงทำงานไม่ทัน แต่ปัญหานี้เสนอว่าควรเร่งแก้ไขโดยให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสร้างระบบการรายงานและตรวจสอบยาใหม่ จัดทำในลักษณะเรียลไทม์ เหมือนการทำบัญชีรายรับรายจ่าย

อีกประเด็นที่มองว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาควรแก้ไขคือ การปรับปรุงให้เว็บไซต์ของหน่วยงานเป็นเว็บไซต์ที่ดูแล้วเข้าใจง่าย เพราะที่มีอยู่ในขณะนี้คนที่ดูและอ่านเข้าใจก็มีเพียงแพทย์ เภสัชกร บริษัทยา หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว เรื่องยาเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชน จำเป็นจะต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ เมื่อเรื่องยาเป็นเรื่องซับซ้อน เชิงเทคนิคก็ควรจะต้องยิ่งทำให้ดูและอ่านเข้าใจง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวเลข รูปภาพ ควรมีการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับยาใหม่ทั้งระบบ ควบคู่ไปกับการนำกฎหมายมาบังคับใช้ให้เข้มงวด เช่น ในกรณีที่มีการรายงานตัวเลขยาแต่ละชนิดล่าช้า ก็ควรมีบทลงโทษกับบริษัทยา ร้านขายยาด้วย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี  

กรณียาซูโดอีเฟดรีนนั้น ปัญหาคือ เป็นเพราะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไว้ใจในระบบโรงพยาบาลมาก จึงกลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่คิดหาผลประโยชน์ใส่ตัวด้วยการจัดทำเอกสารหลักฐานการจัดซื้อยาและเบิกจ่ายยาเป็นเท็จ ซึ่งกว่าจะรู้ข้อมูลนี้ก็เกิดความเสียหายไปมากแล้ว แสดงว่ามีการเข้มงวดกับเอกสารจริง แต่ไม่เคยมีการไปตรวจดูสภาพปัญหาหรือความผิดปกติในพื้นที่ ที่สำคัญสังคมไทย มีเรื่องของ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” หลายๆ โรงพยาบาลมีการสั่งซื้อยา หรือเบิกยาล่วงหน้าโดยยังไม่มีการลงนามอนุมัติจากผู้บริหาร ด้วยเหตุผลที่ว่าจำเป็นต้องจ่ายให้คนไข้ นอกจากนี้ ในการให้บริการด้านสาธารณสุขปฐมภูมิ ทำให้เกิดสถานีอนามัย และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคนับพันๆ แห่ง และก็มีการนำยาบางชนิดไปเก็บไว้ในสถานพยาบาลด้วย ช่องว่างแบบนี้ทำให้เจ้าหน้าที่บางคนนำไปหาผลประโยชน์เช่นกัน 

ในต่างประเทศนั้น หากจะซื้อยาจะต้องมีใบสั่งแพทย์ ทำให้มีการควบคุมการใช้ยาอย่างเข้มข้น แต่ในบ้านเราเรื่องนี้ยังไปไม่ถึงไหน แต่แนวทางที่ประเทศไทยควรดำเนินการได้บ้าง คือ แต่ละสถานพยาบาลควรจะมี “คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด” เพื่อวางกรอบรายการยาสำหรับนำยามาใช้ในพื้นที่นั้นๆ และจะต้องมีกติกาที่ละเอียดร่วมกัน โดยกรรมการชุดนี้ควรมาจากทุกภาคส่วนซึ่งรวมถึงภาคประชาชนด้วย

สำหรับยาที่ควรจะต้องมีการเฝ้าระวัง ได้แก่ 1.ยาที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด เช่น กลุ่มยานอนหลับ ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท 2.กลุ่มยาเสพติด 3.กลุ่มยาสเตียรอยด์ 4.ยาปฎิชีวนะ กลุ่มยาแอนตี้ไบโอติก หรือยาฆ่าเชื้อ ซึ่งหากกินพร่ำเพรื่อจะดื้อยาและหากแพ้ยาอาจถึงขั้นเสียชีวิต และ 5.กลุ่มยารักษาโรคเรื้อรังหรือยาราคาแพง ที่จะมีผลต่องบประมาณของชาติ 

วันนี้...กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ 2 ฉบับ ได้แก่ เรื่องให้ยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 ซึ่งมีผลให้สถานพยาบาลและร้านขายยาที่ไม่มีใบอนุญาตให้มียาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ไว้ในครอบครองจะต้องจัดส่งยาที่มีซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสมทุกตำรับคืนกับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ภายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 และเรื่องกำหนดปริมาณการ มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประ โยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 พ.ศ.2555 ซึ่งมีทั้งโทษปรับเป็นเงินและจำคุก นั้น เห็นว่าทั้ง 2 มาตรการเป็นเรื่องที่ดีในสถานการณ์ขณะนี้ แต่ไม่ใช่ว่ามาตรการเดียวกันนี้จะใช้ได้ดีในอนาคต ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่รื้อระบบยาและปรับปรุงขนานใหญ่

ที่มา :  สำนักข่าวอิศรา วันที่ 24 เมษายน 2555