ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่มา : ตามไปดูสุดยอดไอเดีย "แปลก"แห่งแรกในไทย ฤาของโลก ? แค่ปลายทางด่วนสีลม !! www.matichon.co.th

เชื่อหรือไม่ ได้มีสิ่งมหัศจรรย์ของโลกเกิดขึ้นที่ปลายทางด่วนสีลม !! เป็นไอเดียอันบรรเจิดอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว !! หลายคนขับรถวิ่งไปทำงานในย่านใจกลางเมือง และขับรถกลับบ้านทุกวันคงงง...กันละสิ !! เพราะนอกจากสภาพการจราจรที่ติดขัด และตึกที่ตั้งตระหง่านแออัดเบียดเสียดกันเต็มไปหมด ไม่เห็นมีอะไรน่ามอง

หากเลี้ยวไปทางขวา อาจจะเห็นตึกที่ปกคลุมด้วยตาข่ายสีน้ำเงินของ "โรงพยาบาลเลิดสิน" เพื่อบ่งบอกให้รู้ว่า กำลังทำการปรับปรุงก่อสร้างอาคาร ขับรถผ่านทุกวัน ไม่เห็นจะมีอะไรแปลกใหม่ ?? ก็สิ่งแปลกมหัศจรรย์อันบรรเจิด !! ได้ซ่อนตัวอยู่หลังตึกที่ปกคลุมด้วยตาข่ายสีน้ำเงินนั่นเอง !!

เมื่อก้าวข้ามทางด่วนเข้าไปภายในพื้นที่ ซึ่งเคยเป็นที่จอดรถของโรงพยาบาลเลิดสินเดิม  หลายคนอาจจะถึงกับตะลึงกับความอลังการของตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 66 ตู้ที่ตั้งเรียงรายซ้อนกันเป็น 2 ชั้นทาสีเขียวอ่อนอย่างสวยงาม

และไม่น่าเชื่อว่า ว้าวววว !!! นี่คือ "โรงพยาบาลในตู้คอนเทนเนอร์"

หากดูผิวเผินภายนอกเมื่อเห็นครั้งแรก หลายคนคงคิดว่า ทางโรงพยาบาลเลิดสินคงทำเป็นเพียงโรงพยาบาลชั่วคราวระหว่างทำการก่อสร้างตึก ข้างในอย่างมากคงมีเพียงโต๊ะแพทย์นั่งรักษา คงไม่มีอะไรมาก แต่ที่ไหนได้ตะลึง! ตะลึง! เพราะหากนำผ้ามาปิดตา และพาเดินเข้าไปภายในตู้จะไม่ทราบเลยว่า นี่หรือคือตู้คอนเทนเนอร์ !!

เนื่องจากภายในตู้ได้ทำการเนรมิตรเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์การตรวจทุกอย่างอันเข้ามาเหมือนกับห้องที่ทำการรักษากันภายในอาคารอย่างไม่ตกหล่นพร้อมด้วยระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานน้ำไฟแอร์เย็นฉ่ำเพียงแต่ขนาดเท่านั้นที่อาจเล็กลงเล็กน้อย

อาจเรียกได้ว่า นี่คือ "โรงพยาบาลในตู้คอนเทนเนอร์" ที่สมบูรณ์แบบครบวงจรที่สุดครั้งแรกของโลกเลยทีเดียว

เพราะโรงพยาบาลแห่งนี้มีศักยภาพในการรองรับการให้บริการผู้ป่วยภายนอกได้ถึงวันละกว่า 2,000 คนอย่างครบสมบูรณ์

ทั้งห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัดเล็ก ห้องแลปเจาะเลือด ห้องตรวจทุกแผนกนับไม่ถ้วน ห้องทำฟัน ห้องทำกายภาพบำบัด ห้องเอ็กซเรย์ ห้องทำบัตร ห้องเก็บเอกสาร ห้องจ่ายยา ห้องจ่ายเงิน ห้องน้ำหญิง ห้องน้ำชาย ห้องน้ำคนพิการ ฯลฯ ทุกอย่างบรรจุอยู่ภายในตู้คอนเทนเนอร์ที่นำมาเชื่อมต่อ เจาะทะลุถึงกัน มีการทำบันไดเชื่อมห้องตรวจในชั้น 2 เดินถึงกันได้รอบถึง 66 ตู้

นายแพทย์บุญชัย  พิพัฒน์วินิชกุล รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเลิดสิน สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย"มติชนออนไลน์"ว่า อาคารเก่า 3 หลังได้แก่ ตึกอำนวยการมี 5 ชั้น ตึกเภสัชกรรมมี 2 ชั้น และ ตึก 33 ปีมี 9 ชั้น รองรับผู้ป่วยภายนอกมาหลายปีแล้วได้ประมาณ 600-800 คนต่อวัน แต่วันนี้ปริมาณผู้ป่วยเพิ่มขึ้นไปสูงถึง 2,200-2,500 คนต่อวัน ทำให้พื้นที่ค่อนข้างคับแคบ ประกอบตั้งแต่ปี 2545 ที่มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคปริมาณผู้ป่วยยิ่งเพิ่มปริมาณขึ้น ขณะที่ทางโรงพยาบาลไม่ได้รับงบประมาณในการปรับปรุงอาคารเลย

ช่วงปี 2553 มีงบไทยเข้มแข็ง ซึ่งมีระยะเวลาการใช้งบประมาณค่อนข้างเร็ว ทางโรงพยาบาลได้งบมาปรับปรุงอาคารทั้ง 3 หลังประมาณ 349 ล้านบาท แต่งบมีระยะเวลาการใช้จำกัด ต้องดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างให้เสร็จอย่างรวดเร็ว จึงมีปัญหาว่า จะทำอย่างไรที่จะให้ปรับปรุงตึกไป พร้อมกับยังให้บริการผู้ป่วยนอกได้ตามปกติ จึงมาพบทางออกว่าตู้คอนเทนเนอร์เป็นทางออกที่ดีที่สุด

"ถ้าปรับปรุงอาคารทีละชั้นจะกระทบการให้บริการผู้ป่วยเพราะต้องมีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคน้ำไฟจะกระทบจึงมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรไม่ให้กระทบการให้บริการผู้ป่วย ถ้าจะใช้อาคารอื่นจะกระทบกับการให้บริการผู้ป่วยใน ตอนแรกคิดว่า จะให้บริการชั่วคราวแบบไหนดี ตรงพื้นที่โรงจอดรถของโรงพยาบาล ถ้าทำเต๊นท์ต้องอยู่เกือบ 2 ปีก็เป็นไปไม่ได้ ส่วนการก่อสร้างอาคารถาวร  ก็เป็นไปไม่ได้ในแง่ของเวลาที่กระชั้นชิด และงบประมาณในการก่อสร้างอาคารถาวรชั้นเดียวก็ไม่ได้วางแผนไว้ จึงมาหาทางออกในเรื่องของคอนเทนเนอร์

เราเคยเห็นโรงพยาบาลบางพลีทำเป็นตู้ OPD ไม่กี่ตู้ แต่เราจะทำเป็นโรงพยาบาลเต็มรูปแบบ ยกเว้นแผนกที่ให้บริการด้านหู ตา คอ จมูกไปอยู่ชั้น 12 ของอาคารด้านหลัง เนื่องจากเครื่องมือที่ให้บริการทางด้านนี้มีข้อจำกัดต้องใช้ห้องที่มีความเย็นสูงในการดูแลรักษาเครื่องมือซึ่งการให้บริการที่ผ่านมามีปัญหาการขึ้น-ลงอาคารของผู้ป่วยไม่สะดวก

แต่เมื่อคำนวณพื้นที่แล้วจากพื้นที่100 ส่วนหรือประมาณ 30,000 ตารางเมตร บริเวณพื้นที่จอดรถจะเหลือเพียง 17 ส่วนหรือประมาณ 1,600-1,700 ตารางเมตร จะทำอย่างไรที่จะบีบให้มีการบริการที่ครบถ้วนได้เหมือนเดิม ก็มองว่า คอนเทนเนอร์เป็นคำตอบของเรา เพราะงบไทยเข้มแข็งมาเร็ว และสามารถจะกำหนดขอบเขตให้หน่วยบริการทุกหน่วยสามารถลงไปได้ จึงเป็นทางออกที่จะไม่ลดบริการแบบเดิมลง ที่สำคัญเมื่อเราปรับปรุงอาคารเสร็จตู้คอนเทนเนอร์สามารถบริจาคไปให้หน่วยงานอื่นในต่างจังหวัดไปใช้บริการต่อได้ไม่สูญเงินไปเปล่าๆโดย66 ตู้ใช้เงิน

เราซื้อตู้เปล่ามา 2 ขนาด ยาว 6 เมตร และยาว 12 เมตร ราคาประมาณ 1 แสนกว่าบาทแล้ว เพราะช่วงนั้่นการส่งออกเริ่มดีขึ้นความต้องการตู้คอนเทรนเนอร์เพิ่มขึ้นทำให้ราคาค่อนข้างสูง และการตกแต่งต่อเติมระบบต่าง ๆ รวมเฉลี่ยตู้หนึ่งใช้ค่าตกแต่งประมาณเกือบ 3 แสนบาท รวมทั้งหมด  66 ตู้เป็นเงินประมาณ 26 ล้านบาท และใช้เงินอีก 6 ล้านบาทในการวางระบบสาธารณูปโภค และระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมเป็นเงินสำหรับโรงพยาบาลตู้คอนเทนเนอร์ที่สมบูรณ์แบบ 32 ล้านบาท

การให้บริการผู้ป่วยนอก อุปกรณ์การให้บริการแบบหนัก ๆ ไม่ค่อยมี นอกจากอุปกรณ์ของหมอฟัน เราออกแบบให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่สะดวกที่สุด เริ่มจากตู้แรกเป็นห้องบัตร ตู้ที่สองเป็นห้องฉุกเฉินติดต่อกับห้องศัลยกรรม ต่อด้วยอายุรกรรมเด็ก มีห้องผ่าตัดเล็กอยู่ในตู้ด้วย ห้องภายภาพ ห้องตรวจ ห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิง ห้องน้ำคนพิการ ยกเว้นแผนก ตา หู คอ จมูก ขึ้นไปอยู่บนตึกผู้ป่วยใน การใช้คอนเทนเนอร์จำกัดพื้นที่ได้ครบ และรวดเร็ว ถ้าอาคารถาวรทำได้ชั้นเดียวให้บริการไม่พอ

สำหรับด้านสุขอนามัยภายในพื้นที่ภายในตู้ที่ให้บริการทั้งหมด ได้มีการทดสอบแล้วว่า สะอาด ปลอดภัย แต่ปัญหาหลักที่มี คือ อากาศที่ร้อน และฝุ่น เนื่องจากพื้นที่ระหว่างตู้มีปริมาณฝุ่นค่อนข้างมาก เพราะพื้นที่โรงพยาบาลอยู่ใต้ทางด่วน ทางโรงพยาบาลแก้ปัญหาด้วยการทำความสะอาดบ่อยขึ้น

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องอุณหภูมิความร้อน เพราะผู้ป่วยต้องมานั่งรอเรียกอยู่ด้านนอกตู้ เพื่อรอเข้าตรวจภายในตู้

ที่ตั้งตู้คอนเทรนเนอร์ที่เป็นห้องตรวจถูกบีบอัดอยู่ระหว่างตึกกับทางด่วน และช่วงก่อสร้างมีปัญหาเรื่องอากาศแปรปรวนลมพายุมาก จะมีลมพาฝุ่นเข้ามา ปีนี้ลมเปลี่ยนทิศ ตอนแรกที่ตั้งวางตู้คอนเทนเนอร์ได้มีการคำนวนลมไปอีกทาง แต่ตอนนี้ลมมาทุกทาง แม้แต่อาคารส่งเสริมบริการที่มีอยู่ตอนนี้ก็ถูกลมพายุทำลายค่อนข้างมาก

"ผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการช่วงแรก ๆ บอกแปลกดี แต่ยอมรับการเปิดให้บริการโรงพยาบาลตู้คอนเทนเนอร์ช่วง 3 เดือนแรกมีผู้ป่วยลดลง 10% เพราะอากาศที่ค่อนข้างร้อน และฝุ่น เราเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ไม่อยากงดการให้บริการ ตอนนี้ปกติแล้ว ช่วงแรกเราแก้ปัญหานำพัดลมไอน้ำมา แต่ไอน้ำทำให้เกิดความชื้นเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคอีก ตอนหลังทางฝ่ายวิศวกรรมแนะนำให้ใช้พัดลมธรรมดาติด และหันไปทางเดียวกัน ก็แก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง"

ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องความร้อน ผู้ป่วยชอบ เพราะสามารถเดินเชื่อมต่อได้หมดตามแผนงานการปรับปรุงอาคาร 3 หลังจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2555 นี้ แต่ผู้รับเหมาอาจจะใช้สิทธิ์ที่รัฐบาลให้ชะลอการก่อสร้างออกไปได้ในกรณีเรื่องปัญหาน้ำท่วม

เหลือเวลาอีกไม่มากแล้วสำหรับโรงพยาบาลตู้คอนเทนเนอร์แห่งแรกที่ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย และอาจจจะของโลกก็ว่าได้ ใครที่ยังไม่เคยเห็น  และอยากไปใช้บริการ หรืออยากไปเยี่ยมดูงาน เพื่อหยิบยืมไอเดียไปใช้งานบ้างก็ไม่ว่ากัน แต่คงต้องรีบๆ กันหน่อย เพราะการปรับปรุงอาคารกำลังจะใกล้แล้วเสร็จในอีกไม่นาน