ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

วิทยาเร่งขับเคลื่อน 7 นโยบายสธ. ปี 55 ทั้งยาเสพติด พัฒนารพ.สต. ลดเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน สร้างนำซ่อมสุขภาพ ลดเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ อาหารปลอดภัย ลดโรคเพิ่มสุข 70 ปีไม่มีคิว ฝากครรภ์คุณภาพ ดูแลเด็กฐมวัย

วันนี้ (17 พฤษภาคม 2555) ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมวิชาการพยาบาลชุมชนระดับชาติ ประจำปี 2555 จัดโดยสำนักบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างเสริมให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัยมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย

นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายในการพัฒนาบริการต่างๆ ซึ่งในปี 2555 นี้เน้นหนัก 7 เรื่อง โดยให้ทุกจังหวัด และสถานบริการในสังกัดทุกแห่ง เร่งดำเนินการให้เห็นผลภายใน 4 เดือน ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งการบำบัดรักษาผู้เสพผู้ติดยา มีเป้าหมายบำบัดให้ได้ 400,000 คน และการควบคุมตัวยาและสารตั้งต้น ป้องกันการนำไปใช้ผลิตยาเสพติด 2.พัฒนาคุณภาพบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9,750 แห่งทั่วประเทศ ให้มีศักยภาพในการตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยทั่วไป และดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ให้ได้รับบริการใกล้บ้านที่สุด  3.ลดความเหลื่อมล้ำผู้ป่วย 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ  4.สร้างเสริมนำซ่อมสุขภาพ เช่น การตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง การสร้างหมู่บ้านหรือชุมชนสุขภาพดีวิถีไทย เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี ไม่พึ่งสารเสพติด รวมทั้งสุรา และบุหรี่ด้วย

5.การลดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน โดยรณรงค์ให้มีการสวมหมวกนิรภัยในผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ส่วนผู้ที่ใช้รถยนต์ รณรงค์ให้ติดตั้งและใช้เข็มขัดนิรภัย โดยเฉพาะรถยนต์ของกระทรวงสาธารณสุข ต้องทำเป็นตัวอย่าง 6.อาหารปลอดภัย โดยเฉพาะโรงครัวของโรงพยาบาล รวมทั้งร้านจำหน่ายอาหารในโรงพยาบาลทุกแห่ง และโรงพยาบาลทุกแห่ง จะต้องจัดเมนูชูสุขภาพสำหรับผู้ป่วยทั่วไป มีเมนูอาหารเฉพาะโรค และเมนูสุขภาพอาหารว่างส่วนโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีชาวไทยมุสลิม จะต้องบริการอาหารฮาลาลให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการในโรงพยาบาล 19 แห่ง และ 7.การลดโรคเพิ่มสุข ได้แก่ โครงการ 70 ปีไม่มีคิว โครงการฝากครรภ์คุณภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กไทยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และการดูแลพัฒนาการเด็กปฐมวัย ให้ได้มาตรฐาน เป้าหมายในปีนี้ 400,000 ราย

นายวิทยากล่าวอีกว่า ปัจจุบันประชาชนและชุมชนมีศักยภาพมาก ในการดำเนินงานด้านสาธารณสุขและสุขภาพในชุมชน ในฐานะที่พยาบาลชุมชนเป็นผู้ให้บริการ และเป็นผู้ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับประชาชนในชุมชน ไม่ควรมองว่าประชาชนเป็นภาชนะที่ว่างเปล่า จะเอาอะไรไปใส่ก็ได้ เพราะหากทำอย่างนั้น งานทุกอย่างก็คงไม่สำเร็จ และถึงจะสำเร็จก็เป็นความสำเร็จที่ไม่ยั่งยืน เพราะไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการและอยากทำ แต่หากคนที่ทำงานร่วมกับชุมชนมีความจริงใจที่ดีต่อชุมชน พยายามเรียนรู้ที่จะเข้าใจ และมองหาคุณค่าในสิ่งต่างๆที่อยู่ในชุมชน เช่น วิถีชีวิต วัฒนธรรม พฤติกรรม สังคม สิ่งแวดล้อม การยอมรับนับถือกัน รวมทั้งการปฏิสัมพันธ์แบบเชื่อมโยงถึงกัน จะทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ โดยพลังอำนาจที่มีอยู่ในชุมชน และเมื่อประชาชนมีสุขภาพดี จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งตามไปด้วย