ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

จากกรณีมีการโพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่าทำจากเนื้อสุนัขจำหน่ายในหลายประเทศนั้น อย.เผย ได้ตรวจสอบเฝ้าระวังบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในท้องตลาด และที่นำเข้าอย่างสม่ำเสมอ โดยตั้งแต่ ต.ค.54 - เม.ย.55 ไม่พบปัญหาคุณภาพของบะหมี่สำเร็จรูป กรณีแสดงฉลากปลอม ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผสมเนื้อสัตว์ชนิดอื่น เช่น หมู ไก่ เป็นต้น จัดเป็นอาหารปลอม หากตรวจพบจะดำเนินการให้ถึงที่สุด

ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีมีการโพสต์ภาพและข้อความผ่านทางเว็บไซต์ว่า ประเทศจีนนำเนื้อสุนัขมาลอกหนัง และบดเป็นผง เพื่อนำมาเป็นส่วนประกอบของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคในปักกิ่ง กวางตุ้งเกาหลีใต้ เป็นต้นโดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดังกล่าว ไม่มีฉลากภาษาไทย ซองมีลักษณะเป็นสีแดง มีตัวหนังสือภาษาเกาหลีและภาษาจีน ตัวหนังสือภาษาจีนดังกล่าว แปลได้ว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทำจากเนื้อสุนัข

รองเลขาธิการอย. เปิดเผยต่อไปว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยสำนักอาหารและสำนักด่านอาหารและยา ได้ตรวจสอบเฝ้าระวังบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในท้องตลาดและที่นำเข้าอย่างสม่ำเสมอ โดยตั้งแต่ ต.ค.54 - เม.ย.55 อย.ได้เก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้าจากประเทศจีน 21 ตัวอย่าง ขณะนี้ได้รับผลวิเคราะห์ 12 ตัวอย่าง ผลวิเคราะห์ไม่พบปัญหาคุณภาพของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นอกจากนี้อย.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้าจากต่างประเทศในหลายห้างดัง ไม่พบการนำเข้าหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีเนื้อสุนัขผสมตามที่เป็นข่าว

รองเลขาธิการอย. กล่าวในตอนท้ายว่า หาก อย.ตรวจพบว่ามีการนำเนื้อสุนัข มาผสมในผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ฉลากระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผสมเนื้อสัตว์ชนิดอื่น เช่น หมู ไก่ เป็นต้น จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522กรณีตรวจพบผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารที่มีฉลากเพื่อลวง หรือพยามลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณและประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต จัดเป็นอาหารปลอม มีโทษต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่6เดือน -10ปี และปรับตั้งแต่5,000บาท -100,000บาท กรณีแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง ไม่แสดงฉลากภาษาไทย มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาทอย่างไรก็ตาม อย.จะเฝ้าระวังการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากประเทศจีนรวมทั้งประเทศอื่นๆ พร้อมทั้งติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถแจ้งเบาะแสผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายได้ที่ สายด่วน อย.1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)

 

ที่มา: http://www.naewna.com