ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำนักงานสาธารณสุขแนวชายแดนทั่วประเทศ เฝ้าระวังปัญหายามาลาเรียปลอมต่อเนื่อง เผยผลการเฝ้าระวัง ใน 22 จังหวัดไม่พบปัญหามากว่า 5 ปี แนะประชาชน ช่วงฤดูฝนนี้เป็นช่วงขาขึ้นของโรค หากป่วยมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะและมีประวัติเข้าป่า ให้พบแพทย์ตรวจรักษา อย่าซื้อยากินเอง โรคนี้ต้องใช้ยาเฉพาะโรค ยาปฏิชีวนะหรือยาลดไข้ทั่วไปใช้ไม่ได้ สถิติในรอบเกือบ 5 เดือนปีนี้ทั่วประเทศมีรายงานป่วยกว่า 5,000 ราย

จากกรณีที่ผู้เชี่ยวชาญแห่งสถาบันสุขภาพของสหรัฐ เปิดเผยว่ายารักษาโรคมาลาเรียมากกว่า 1 ใน 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นักวิทยาศาสตร์นำมาตรวจสอบพบว่า เป็นยาปลอม โดยร้อยละ 30 ของยาตัวอย่าง ไม่มีส่วนผสมของตัวยาเลยนั้น ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในการเฝ้าระวัง ป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดยารักษาโรคมาลาเรียปลอม มีรายงานพบ ที่บริเวณชายแดน จ.ตาก และตราด จำนวน 3 ตัวอย่าง เมื่อพ.ศ. 2549 หลังจากนั้นยังไม่พบอีก อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง โดยเฉพาะ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนไทย-พม่า กัมพูชา ลาว ให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง หากพบให้ลงโทษอย่างเด็ดขาด

ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรคมีความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก องค์การตำรับยาแห่งอเมริกา (USP) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) และกองทุนโลกต่อต้านโรคมาลาเรีย ในการเฝ้าระวังปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาและเฝ้าระวังยารักษาโรคมาลาเรียปลอม ใน 22 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี สระแก้ว ระยอง ตราด จันทบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พังงา สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง และสงขลา ซึ่งส่วนมากจะเป็นจังหวัดตามแนวชายแดนไทย-พม่า และไทย-กัมพูชา กิจกรรม ที่เน้นหนักคือ ให้เจ้าหน้าที่ติดตามผู้ป่วยทุกรายอย่างใกล้ชิด ให้กินยาครบถ้วน และติดตามจนแน่ใจว่าหายจากโรคมาลาเรียเด็ดขาด และจัดส่งเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ยามาลาเรียปลอมตามแนวชายแดนอย่างต่อ เนื่อง และตรวจด้วยชุดทดสอบภาคสนาม หากพบจะประสานต่อไปยัง อย. ผลดำเนินการปรากฏว่ายังไม่พบปัญหาติดต่อมากว่า 5 ปี พบเพียงยาที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานเล็กน้อย ในบริเวณชายแดนไทย-พม่า

ทั้งนี้ สถานการณ์โรคมาลาเรียในประเทศไทย ปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม –วัน ที่ 19 พฤษภาคม 2555 ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 5,382 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 52 เป็นต่างชาติ มากที่สุดคือพม่า ส่วนใหญ่เป็นชายอายุ 25-45 ปี โดยร้อยละ 50 ติดเชื้อจากการเข้าป่า เช่น หาของป่าหรือล่าสัตว์ รองลงมาคือ ทำสวนยางและทำนา โดยสถิติจำนวนผู้ป่วยปีนี้น้อยกว่าช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา 13-45 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไรก็ตาม โรคมาลาเรียอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากทุกพื้นที่กำลังเข้าสู่ฤดูฝน ปริมาณยุงก้นปล่องในป่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าช่วงฤดูแล้ง จึงขอให้ประชาชนป้องกันตัว โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพกรีดยาง หรือทำงานในป่า ขอให้สวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด สวมเสื้อผ้าสีอ่อนๆ สวมหมวกที่มีปีกปิดตรงช่วงคอ ซึ่งมักเป็นจุดที่ยุงกัดมาก รองจากแขนขา และนอนในมุ้ง หลังจากที่ทำงานมาแล้วให้รีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด เพื่อลดปริมาณกลิ่นเหงื่อไคล ซึ่งเป็นกลิ่นที่ยุงชอบ

สำหรับ ผู้ที่มีประวัติเข้าป่า ไม่ว่าจะเข้าไปท่องเที่ยวหรือทำงาน หลังออกจากป่าแล้วประมาณ 15 วัน หากมีอาการป่วยคือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ขอให้สงสัยว่าป่วยเป็นไข้มาลาเรียไว้ก่อน และให้ไปพบแพทย์หรือพบเจ้าหน้าที่ที่คลินิกมาลาเรีย ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 800 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรักษาด้วยยาที่ตรงชนิดกับเชื้อ โดยเชื้อมาลาเรียเป็นกลุ่มปาราสิต มี 4 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์จะมียารักษาเฉพาะ โดยยาที่ใช้ขณะนี้ได้ผลดี แต่ต้องกินยาจนครบสูตรประมาณ 3-14 วัน ส่วนยาปฏิชีวนะหรือยาลดไข้ทั่วๆไปไม่สามารถใช้รักษาโรคนี้ได้ และหากใช้ยารักษาไม่ถูกเชื้อ ไม่ถูกโรค จะเกิดปัญหาเชื้อดื้อยา และไม่ได้ผล เป็นอันตรายถึงชีวิตจากไตวาย