ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันนี้(28 พฤษภาคม 2555) ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมยุทธศาสตร์การพัฒนาการบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะของไทย แก่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป แพทย์และพยาบาลที่รับผิดชอบหลักของโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 55 คน จากโรงพยาบาล 15 แห่ง จัดโดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช. ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยและสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย เพื่อมอบแนวทางการพัฒนาการบริจาคอวัยวะ

นายแพทย์ไพจิตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญการรณรงค์การบริจาคอวัยวะเพื่อให้มีอวัยวะเพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่อวัยวะวายแล้ว เช่น ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย, ตับวายและหัวใจวายระยะสุดท้าย โดยในปี 2556 กำหนดให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดที่มีศักยภาพและความพร้อมจำนวน 15 แห่ง ได้แก่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี รพ.อุดรธานี รพ.ศูนย์ขอนแก่น รพ.พุทธชินราชพิษณุโลก รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.สุราษฏร์ธานี รพ.ชลบุรี รพ.ระยอง รพ.ราชบุรี รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.สระบุรี รพ.ร้อยเอ็ด รพ.มหาสารคาม รพ.สกลนคร และรพ.หาดใหญ่ สงขลา นำร่องในการพัฒนาระบบการรับบริจาคและการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งบางแห่งได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยระดับหนึ่งแล้ว โดยผลการสำรวจโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัดซึ่งมีทั่วประเทศจำนวน 96 แห่ง พบว่าต้องการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลรับบริจาคอวัยวะ (Donors Hospital) จำนวน 64 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 68

นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ มีกลไกระดับชาติในการพัฒนาระบบบริการการบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะ 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การหาสาเหตุที่ทำให้มีจำนวนอวัยวะบริจาคจากผู้ป่วยสมองตายต่ำกว่าที่ควร 2.แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานเพื่อผลักดันนโยบายและการทำงาน 3.กำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละบุคคลและหน่วยงาน 4.กำหนดหลักการในการขอรับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตายที่ญาติยินยอมบริจาคอวัยวะ โดยตั้งเป้าในปี 2555 จะต้องขอรับบริจาคให้ได้ 5 ราย และเพิ่มเป็น 15 รายในปี 2557

5.นำนโยบายเข้าสู่การวางแผนเพื่อการปฏิบัติตลอดจนประชาสัมพันธ์และ6.พัฒนาโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สามารถปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตได้ ตั้งเป้าในปี 2556 จะทำการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต 5 รายและในปี 2558 จะทำการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิตและเสียชีวิตแล้วจำนวน 15 ราย ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้มีการบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก นำไปช่วยเหลือผู้ป่วยไตวาย,ตับวาย,หัวใจวายระยะสุดท้าย ที่รอรับการบริจาคอวัยวะเพื่อผ่าตัดเปลี่ยน และสามารถดำเนินชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติ รวมถึงการพัฒนาให้เป็นศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพในอนาคต

ด้านผศ. นพ. วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ เป็นผู้คัดสรรอวัยวะที่ได้จากผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย ให้กับผู้ป่วยที่รอรับอวัยวะอย่างเป็นธรรมและมีเกณฑ์ตามหลักวิชาการ และมีหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานระหว่างโรงพยาบาลที่มีผู้เสียชีวิตจากสมองตาย กับโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ ตลอดจนฝึกอบรมพยาบาลในการประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะ

ผศ.นพ.วิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า อุปสรรคสำคัญในการบริจาคอวัยวะในประเทศไทย คือ ทัศนคติและความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ ระบบการสนับสนุนเชิงระบบจากผู้บริหาร ตลอดจนองค์ความรู้ในการขออวัยวะจากญาติผู้ป่วย  ในการประชุมครั้งนี้ ทางศูนย์รับบริจาคฯ ได้ร่วมให้ความรู้และแนวทางการประสานงานแก่แพทย์ พยาบาลที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน ศ.นพ. วสันต์ สุเมธกุล นายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจำนวนมากถึง 31,989 ราย ขณะนี้มีผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายไตประมาณ 3,241 ราย ในแต่ละปีจะสามารถปลูกถ่ายไตได้ปีละประมาณ 400 รายเท่านั้น เนื่องจากการขาดแคลนผู้บริจาคอวัยวะ โดยเฉพาะจากผู้บริจาคอวัยวะสมองตายซึ่งยังมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งพบว่าคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายไต จะดีกว่าผู้ป่วยฟอกเลือดและล้างไตทางช่องท้อง  นอกจากนั้นในปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพในการเปลี่ยนหัวใจ, ปลูกถ่ายตับ, ตับอ่อน เช่นเดียวกับต่างประเทศ ซึ่งการบริจาคอวัยวะก็สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อีกมาก โดยสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆ ในการให้ความรู้ทางวิชาการ การวินิจฉัยและการดูแลผู้ป่วยสมองตาย และการจัดรูปแบบโรงพยาบาลเพื่อให้มีศักยภาพพร้อมในการขอบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย ตลอดจนพัฒนาให้มีศักยภาพได้เองในการปลูกถ่ายอวัยวะในอนาคต

ด้านนพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ในปัจจุบัน สปสช. มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้องและฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 19,919 ราย และเป็นที่ทราบดีว่าการปลูกถ่ายไตเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพกว่าการรักษาที่กล่าวมา ปัจจุบัน สปสช. ได้สนับสนุนค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้บริจาคไต, ผู้รับบริจาคไตและค่ายากดภูมิคุ้มกัน รวมถึงการครอบคลุมการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ และปลุกถ่ายตับในเด็กในชุดสิทธิประโยชน์ อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญในการดำเนินการคือผู้บริจาคอวัยวะสมองตายมีไม่มากเมื่อเทียบกับผู้รอรับอวัยวะ