ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คปภ.เล็งปรับประกันภัยพ.ร.บ.อีกยก เพิ่มความคุ้มครอง ไม่ขึ้นเบี้ยประกัน ชี้ต้องปรับให้สอดรับกับค่าครองชีพขยับเพิ่ม ค่ารักษาพยาบาลแพง  ลั่นไม่เกิน 3 เดือนรู้ผล ระดมสมองหาวิธีเพิ่มความสะดวกเบิกสินไหมช่วยประชาชน หลังโรงพยาบาลอ้างเบิกจ่ายช้า-ติดปัญหาบันทึกประจำวันจากตำรวจ ด้านบิ๊กวินาศภัยแจงเพิ่มคุ้มครองพ.ร.บ.ทำได้ แต่คปภ.ควรทบทวนทั้งกระดาน ลดเงินสมทบที่บริษัทประกันจ่ายให้คปภ.และบริษัทกลางฯเพื่อลดภาระบริษัท

นายวิวัฒน์  เกิดไพบูลย์  รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดีและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เปิดเผย”สยามธุรกิจ”ว่า  เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา คปภ.และสมาคมประกันวินาศภัยและบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัดได้หารือกันประเด็นการเบิกค่าสินไหมทดแทนประกันภัยพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหรือประกันภัยรถภาคบังคับทำอย่างไรจะให้ผู้ประสบภัยได้รับความสะดวกมากขึ้นหลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาลบางแห่งแจ้งมาว่ามีปัญหาในการใช้สิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลจากประกันภัยพ.ร.บ.ต้องใช้เอกสารมากโดยเฉพาะบันทึกประจำวันจากตำรวจทำให้เกิดความยุ่งยาก

 “ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกำหนดไว้ชัดเจนหากผู้ประสบภัยจากรถมาใช้สิทธิ์เบิกค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย หลักฐานที่ใช้นอกจากบัตรประชาชนแล้วต้องมีบันทึกประจำวันจากตำรวจ หากเบิกจากบริษัทประกันภัยส่วนที่เกินจากค่าเสียหายเบื้องต้นต้องใช้บันทึกประจำวันจากตำรวจเช่นกัน รถชนคนเป็นคดีอาญา ตามกฎหมายต้องมีตำรวจเข้ามาดูอยู่แล้ว การกำหนดให้ใช้บันทึกประจำวันเพื่อป้องกันการทุจริต เพราะไม่รู้เหตุที่เกิดมาจากอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนหรือไม่ ขณะที่ทางโรงพยาบาลที่รับผู้ประสบภัยเข้าไปรักษาตัวบอกทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้สิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาล ไม่ใช้บันทึกประจำวันได้หรือไม่”

อย่างไรก็ดี คงต้องหาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกที่สุด เช่น ถ้าไม่ใช้บันทึกประจำวันใช้หลักฐานอื่นได้หรือไม่ อาทิ ให้แพทย์เป็นผู้รับรองเป็นผู้ประสบภัยจากรถจริง ซึ่งน่าจะใช้แทนได้เพราะแพทย์เป็นผู้รักษาและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียคงต้องหารือกันต่อไป ขณะเดียวกันเนื่องจากคปภ.มีเครือข่ายทั่วประเทศจึงรับเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสินไหมประกันภัยพ.ร.บ.รวมไปถึงติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ และบริษัทประกันภัยเอง

รองเลขาธิการคปภ.กล่าวว่า เมื่อต้องหาวิธีเพิ่มความสะดวกในการจ่ายสินไหมทดแทนประกันภัยพ.ร.บ.เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากที่สุดแล้ว ทางคปภ.จะถือโอกาสปรับปรุงประกันภัยพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไปพร้อมกันโดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความคุ้มครองให้กับประชาชนเพื่อให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจทั้งค่าครองชีพ ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นรวมไปถึงค่ารักษา ซึ่งการเพิ่มความคุ้มครองอยู่บนฐานไม่ปรับเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น

 “หลักของประกันภัยพ.ร.บ.ไม่หวังกำไรอยู่แล้วและไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนต้องมีภาระเพิ่ม ทุกครั้งที่มีการปรับความคุ้มครองเราจะดูค่าเบี้ยประกันภัยพอหรือไม่ถ้าหากบริษัทประกันภัยอยู่ได้ควรจะเพิ่มความคุ้มครอง เรื่องนี้สมาคมฯรับลูก ยินดีที่จะไปศึกษาการเพิ่มความคุ้มครองจะขอดูตัวเลข 1-2 เดือนคาดว่าไม่น่าจะเกิน 3 เดือนจะเห็นความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นจะเป็นเท่าไหร่”

ทั้งนี้ คปภ.ได้ปรับเพิ่มความคุ้มครองประกันภัยพ.ร.บ.ครั้งหลังสุดไปเมื่อ 2 ปีก่อนกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวรหรือสูญเสียอวัยวะจากไม่เกิน  100,000 บาทเป็น 200,000 บาทและค่าชดเชยรายวันกรณีเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นวันละ 200 บาทสูสุดไม่เกิน 20 วัน ขณะที่ค่าเสียหายเบื้องต้นเท่าเดิมค่ารักษาพยาบาล 15,000 บาท กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวรและสูญเสียอวัยวะ 35,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาทโดยคิดเบี้ยประกันเท่าเดิมรถเก๋ง 600 บาท(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)รถจักรยานยนต์ 300 บาท

ด้านนายกฤตวิทย์  ศรีพสุธา กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ค่ายประกันวินาศภัยที่มีรับประกันภัยรถตามพ.ร.บ.มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศให้ความเห็นกับ”สยามธุรกิจ” ว่า ตามหลักหากอัตราสินไหมทดแทน(Loss Ratio) ไม่สูงไม่เกิน 60% สามารถปรับเพิ่มความคุ้มครองได้ เบี้ยประกันภัยยังพอเหลืออยู่ ซึ่งต่างประเทศทำแบบนี้ แต่เมื่อคปภ.จะทบทวนประกันภัยพ.ร.บ.แล้วน่าจะทบทวนทั้งกระดานในส่วนของเงินสมทบที่บริษัทประกันภัยต้องนำส่งให้กับบริษัทกลางฯและคปภ.ทุกปีตามที่กฎหมายกำหนดควรจะปรับลดลงเพื่อลดภาระบริษัทประกันภัย

 “บริษัทประกันที่ภาระจ่ายเงินสมทบให้กับคปภ.ปีละ 1%ของเบี้ยรวม ส่วนบริษัทกลางฯปีละ 12.5% ของเบี้ยประกันภัยพ.ร.บ. ในเมื่อจะทบทวนประกันพ.ร.บ.น่าจะทบทวนเรื่องนี้ไปพร้อมกันด้วยเพื่อลดภาระบริษัทประกันภัยลงหากต้องเพิ่มความคุ้มครองโดยไม่เพิ่มเบี้ยประกันภัย ยกตัวอย่างบริษัทกลางฯที่มีกำไรอยู่ในตอนนี้มาจากเงินสมทบที่บริษัทประกันนำส่งให้ทุกปีไม่ใช่มาจากผลการดำเนินงานซึ่งยังขาดทุนอยู่ พอมีกำไรก็ต้องไปเสียภาษีเงินได้ซึ่งไม่ถูกต้อง “

แหล่งข่าวจากวงการประกันวินาศภัย เปิดเผย”สยามธุรกิจ”เพิ่มเติมว่า หากคปภ.ต้องการให้ปรับเพิ่มความคุ้มครองประกันภัยพ.ร.บ.ก็ต้องปรับ ซึ่งเป็นประเด็นที่คปภ.และสมาคมประกันวินาศภัยต้องไปหารือร่วมกัน ในเรื่องประกันภัยพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่ผ่านมามีการปรับปรุงมาหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความคุ้มครองและการลดเบี้ยประกันเน้นไปที่การเพิ่มความคุ้มครองมากกว่า ซึ่งในครั้งนี้หากว่าจะปรับก็ต้องเอาข้อมูลมาคุยกันว่ามีเหตุผลรองรับเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ถึงจะบอกได้ว่าควรปรับหรือไม่ควรปรับอย่างไร

 “ปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอดน่าจะเกิดจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วมีความเกี่ยวโยงกับหลายส่วน หากเป็นสิทธิ์ในส่วนของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถถือว่ามีมาตรฐานระดับหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาระบบการเบิกจ่ายตามสิทธิ์ก็สามารถรองรับได้ อย่างบริษัทกลางก็มีระบบอี-เคลมหรือเบิกสินไหมผ่านออนไลน์รองรับ ปีหนึ่งๆ มีผู้ใช้สิทธิ์ถึง 200,000-300,000 เคลม ก็ไม่เห็นมีปัญหาในเรื่องของการเบิกจ่ายล่าช้า ดังนั้นปัญหาน่าจะเกิดจากการรักษาที่ต่อเนื่องจากสิทธิ์ของประกันพ.ร.บ.มากกว่า ควรต้องนำประเด็นปัญหาแท้จริงที่ชัดเจนว่าอยู่ตรงไหนแน่มาคุยกันมากกว่า”

ด้านนายสมพร สืบถวิลกุล  ประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัย กล่าวกับ”สยามธุรกิจ” ว่า ในเรื่องการอำนวยความสะดวกในการเบิกจ่ายสินไหมประกันภัยพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถทั้งคปภ.และสมาคมฯเห็นตรงกันให้บริษัทกลางฯเข้ามาดูแล ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทประกันภัยส่วนใหญ่มอบหมายให้บริษัทกลางดูแลเรื่องสินไหมประกันภัยพ.ร.บ.แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด อีกทั้งต้องยอมรับว่าบริษัทประกันภัยมีจำนวนมาก อาจจะมีบางบริษัทที่ทำเรื่องช้าหรือส่งเอกสารช้า โดยบริษัทกลางฯจะรับเรื่องต่อจากคปภ.ซึ่งจะป็นศูนย์กลางรับเรื่องเกี่ยวกับสินไหมประกันภัย

อนึ่ง ปัญหาเกี่ยวกับการใช้สิทธิ์เบิกจ่ายสินไหมประกันพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมีปัญหามาตลอด นับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ จนกระทั่งกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้มีการปฏิรูปประกันภัยพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ดึงไปอยู่ภายใต้การดูแลของภาครัฐทั้งหมด โดยอ้างว่าการใช้สิทธิ์เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลยุ่งยากใช้เอกสารเยอะ ผู้ประสบภัยเลี่ยงไปให้กองทุนประกันสุขภาพระบบอื่นแทนซึ่งต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น อีกทั้งบริษัทประกันภัยแข่งขันกันมากทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงเกินไปซึ่งปัญหาดังกล่าวยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

 

ที่มา: http://www.siamturakij.com