ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"ปัจจุบันพบว่า การใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยเห็นได้จากการเข้าถึงของประชาชน ซึ่งปัจจุบันสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ 25 ล้านคนหรือเกือบ 40% ในจำนวนนี้มีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพมากถึง กว่า 1.2 แสนครั้งต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 40,600 กว่าครั้ง ล่าสุดในเดือนมีนาคม ปี 2555 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้ เฟซบุ๊ก มากเป็นอันดับที่ 16 ของโลก หรือมีผู้ใช้กว่า 14 ล้านคน และมีผู้ใช้ทวิตเตอร์อีกกว่า 1 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีการค้นหาความรู้เกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น" ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงตัวเลขการเติบโตของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนได้ สสส.ได้เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชน

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง สวทช.กับ สสส. ในช่วง 3 ปีนี้ จะมีการพัฒนางานใน 3 ด้าน คือ 1. การพัฒนาเยาวชนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีในการสร้างเสริมสุขภาวะ เช่น โครงการประกวดการพัฒนาโปรแกรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของเยาวชน 2. การพัฒนาเทคโนโลยีและระบบฐานข้อมูลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ เช่น การพัฒนาโปรแกรมบนมือถือให้บริการข้อมูลเรื่องโภชนาการ การออกกำลังกาย และการใช้ยาที่ถูกต้อง และ 3. การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการสร้างเสริมสุขภาวะอย่างยั่งยืน เช่น ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ โดยพัฒนาชุดอุปกรณ์ควบคุมการเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ใช้งานได้ทั้งจากสวิตช์ปกติ และควบคุมผ่านรีโมตคอนโทรล ภายในรัศมี 20-30 เมตรจากเครื่องติดตั้ง และพัฒนาระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยติดตั้งอุปกรณ์เพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยในรูปแบบของเสียงสัญญาณไซเรน หรือไฟ ในกรณีที่ต้องการขอความช่วยเหลือ เพื่อแจ้งให้คนในครอบครัว หรือเพื่อนบ้านใกล้เคียงรับทราบ เป็นต้น

ทพ.กฤษดา กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเทศไทยใช้งบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายด้านสุขภาพสูงมากกว่า ปีละ 400,000 ล้านบาท หากมีนวัตกรรมที่ช่วยเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพของประชากรได้ ก็จะบรรเทาปัญหาทางสุขภาพ โดยนำมาทดลองใช้งานจริงกับเครือข่ายต่าง ๆ ของสสส. ที่มีแกนนำเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพที่มีมากกว่า 30,000 คน นำมาใช้งานจริง เพื่อนำไปสู่การใช้งานอย่างแพร่หลายในอนาคต เช่น การพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพบุคคล และโครงการพัฒนาระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีจะสามารถช่วยให้คุณภาพของประชากรดีขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งยังขาดแคลนบุคลากรแพทย์ พยาบาลที่เพียงพอ

ทั้งนี้ตัวอย่างของแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่เนคเทคสามารถคิดค้นแล้วนำมาเปิดให้ประชาชนใช้ฟรี ได้แก่ FoodiEat โปรแกรมบันทึกพฤติกรรมการบริโภคอาหาร สำหรับเก็บประวัติการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อของวัน โดยผู้ใช้สามารถกรอกปริมาณแคลอรีของอาหารที่รับประทานเหรือเลือกค่าประมาณแคลอรีของอาหารยอดนิยมและเครื่องดื่มกว่า 200 รายการ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันโภชนาการ ม.มหดิล ทำให้ผู้ใช้สามารถทราบได้ว่าในแต่ละวันได้บริโภคอาหารอะไรไปบ้างและคิดเป็นพลังงานรวมกี่กิโลแคลอรี

Ya&YoU (ยากับคุณ) เป็นอีกแอพพลิเคชั่นของมือถือระบบสมาร์ทโฟน สำหรับสืบค้นและบริการข้อมูลความรู้ด้านยาและสุขภาพเพื่อส่งเสริมการใช้ยาและการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยมูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (มูลนิธิวพย.) และเนคเทค ร่วมพัฒนาขึ้น สามารถเยี่ยมชมระบบแบบเต็มรูปแบบที่เว็บไซต์ http://www.yaandyou.net

 

--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 มิ.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--