ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นักเศรษฐศาสตร์ในอดีตเชื่อว่าสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากจะสร้างแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนาและการสร้างนวัตกรรมแล้ว ยังอาจช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนจากต่างประเทศ โดยการให้อำนาจผูกขาดแก่ผู้ทรงสิทธิ

แต่หากมองย้อนกลับไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพบว่าประเทศเหล่านี้เริ่มให้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ก็ต่อเมื่อประเทศของตนมีความพร้อมในปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องไปมากพอสมควรแล้ว เช่น คุณภาพการศึกษาและแรงงาน การเข้าถึงเงินทุน การสะสมความรู้ สถาบันทางเศรษฐกิจขีดความสามารถทางเทคโนโลยี ฯลฯ

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา นักเศรษฐศาสตร์พบว่า แนวคิดเดิมที่ว่าสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมนั้นไม่เป็นจริงเสมอไป โดยเฉพาะกรณีการสร้างนวัตกรรมที่เป็นการพัฒนาต่อยอดขึ้นจากความคิดหรือความรู้เดิม เนื่องจาก เมื่อมีการสร้างนวัตกรรมขึ้นแล้ว แทนที่ผู้ทรงสิทธิจะพัฒนานวัตกรรมเหล่านั้นให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น หรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ผู้ทรงสิทธิเหล่านี้กลับมีแรงจูงใจที่จะรักษาอำนาจผูกขาดที่ตนได้รับไว้ให้นานที่สุด โดยอาศัยวิธีการต่างๆ เช่น การเกิดสิทธิบัตรยาที่ไม่มีวันสิ้นสุด (evergreening  patent ) ทั้งๆ ที่ยาตัวนั้นไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นแต่อย่างใด ตัวอย่างผลการวิจัยที่น่าสนใจ เช่น

พ.ศ. 2532 พบว่า การคิดค้นต่อยอดจะเกิดช้าลงหากกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญามีความเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากมีการจำกัดการแพร่กระจายความรู้

พ.ศ. 2544 พบว่า การเพิ่มขอบเขตการคุ้มครองสิทธิบัตรของญี่ปุ่นไม่มีผลทำให้มีการเพิ่มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา พ.ศ. 2545 พบว่า การเพิ่มการคุ้มครองสิทธิบัตรในแง่มุมต่างๆ 177 ครั้งใน 60 ประเทศทั่วโลก ในช่วงเวลา 150 ปีที่ผ่านมา ไม่ช่วยให้มีการสร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น และยังพบว่านักประดิษฐ์ต่างประเทศจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นในประเทศที่เพิ่มการคุ้มครอง ในขณะที่นักประดิษฐ์ท้องถิ่นจดสิทธิบัตรลดลง  สำหรับประเทศไทย ร้อยละ 99 ของคำขอรับสิทธิบัตรยาช่วง พ.ศ.2542-2553 เป็นของคนต่างชาติ

พ.ศ. 2550 พบว่า การให้สิทธิบัตรแก่ผลิตภัณฑ์ยาไม่มีผลในการเพิ่มการสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนา

นอกจากนี้ ตั้งแต่ ปี 2546 ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกได้มีการอภิปรายถึงความสมดุลของระดับของการคุ้มครองสิทธิบัตรยา ซึ่งเป็นรูปแบบทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบหนึ่ง ที่จะต้องสามารถรักษาสมดุลของผลประโยชน์ระหว่างการสร้างนวัตกรรมและผลประโยชน์จากการใช้หรือเข้าถึงความรู้และการเข้าถึงยา รวมทั้งมีความตระหนักถึงปัญหาของระบบสิทธิบัตรยาในปัจจุบัน จึงร่วมกันพิจารณารูปแบบสิทธิบัตรใหม่ที่จะส่งเสริมการวิจัย พัฒนาและการเข้าถึงยา

ล่าสุดในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 21-26 พฤษภาคม 2555 ได้มีมติให้ประเทศสมาชิกเสนอกลไกของรูปแบบสิทธิบัตรใหม่ที่สนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนายาที่จำเป็นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนเป็นกลไกที่สนับสนุนการเผยแพร่และการใช้ประโยชน์จากความรู้อย่างกว้างขวาง

สำหรับประเทศไทย หากยังไม่แน่ใจว่าระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบันสูงเกินไปหรือไม่หรือไม่แน่ใจว่าจะสามารถรับมือกับผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นได้จากระบบสิทธิบัตรที่บิดเบี้ยวในหลักการก็ยังไม่ควรขยายระดับความคุ้มครองที่มาในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้อต่อรองของประเทศที่พัฒนาแล้วในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสียหายระดับหลายแสนล้านบาทได้

การสร้างกลไกรูปแบบการให้สิทธิบัตรแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของไทย !

 

ผู้เขียน : รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ สาขาวิชาเภสัชศาสตร์สังคมและการบริหาร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น