ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เครื่องแบบสีขาวที่นั่งเรียงรายประท้วงบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล กว่า 2,000 ชีวิต เมื่อช่วงกลางเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ถือเป็นตัวแทน 21 สายวิชาชีพทางการแพทย์สะท้อนปัญหาไปยังภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของบุคลากรที่เกิดขึ้นภายในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขโดยเร็ว ด้วยสถานะที่เป็นเพียง "ลูกจ้างชั่วคราว" มาอย่างยาวนาน

สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็ถูกลิดรอน ทั้งเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการอื่นๆ ที่ควรเทียบเท่าผู้ถูกบรรจุเป็นข้าราชการ เพราะภาระหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่ไม่แตกต่างกัน ซ้ำยังหนักเพิ่มขึ้นหลังมีการดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคทำให้ผู้ป่วยเพิ่มจำนวนหลายเท่าตัว

อัตราบรรจุ "ข้าราชการ" จึงเป็นสิ่งที่นางฟ้าชุดขาวเหล่านี้ต่างเรียกร้องกันมาตลอดและยาวนานโดยที่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แม้จะมีความพยายามแก้ไขมาตลอดก็ตาม

ด้วยนโยบายจำกัดกำลังคนของรัฐบาลในอดีต เป็นอุปสรรคต่อการขอเพิ่มอัตราตำแหน่งบรรจุ ส่งผลต่อขวัญกำลังใจของเหล่าบรรดาวิชาชีพทางการแพทย์ทั้งหลาย แต่ละปีจึงมีจำนวนไม่น้อยที่ลาออก หากไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน จะส่งผลวิกฤติต่อระบบการรักษาพยาบาลที่ไม่สามารถคงบุคลากรในระบบไว้ได้ แม้จะมีการผลิตเพิ่มในแต่ละปีก็ตาม

ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำ "แผนกรอบอัตรากำลังคนด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอตำแหน่งข้าราชการบรรจุ ตั้งแต่ปี 2555-2560" และเตรียมที่จะนำเสนอต่อ ครม.พิจารณาในเร็วๆ นี้

นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมานายวิทยา  บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดให้แก้ไขปัญหานี้ และให้ทำจัดทำแผนกรอบอัตรากำลังคนเพื่อขอตำแหน่งบรรจุราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และเสนอ ครม.พิจารณา โดยเป็นแผนระยะยาว 5 ปี ยึดตามรายงานการศึกษากำลังคนด้านสุขภาพที่จัดทำโดย ดร.นพ.ปิยะ หาญวรงศ์ชัย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามที่ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ทำการศึกษา เพื่อสรุปจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพที่ควรมีในระบบ จำนวนที่ยังขาดและต้องผลิตเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการบริการ

จากการคำนวณสัดส่วนบุคลากรต่อประชากรของแต่ละสายวิชาชีพ ปริมาณของภาระงาน และความสามารถในการผลิต เพื่อนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ขอเพิ่มอัตรากำลังให้เพียงพอ สอดคล้องต่อสถานการณ์ความเป็นจริง โดยอัตราส่วนของแพทย์อยู่ที่ 1:2,500 คน หรือ 25,963 คน ทันตแพทย์ 1:8,740 คน หรือ 7,426 คน เภสัชกร 1:6,200 คน หรือ 7,328 คน พยาบาลอยู่ที่ 1:550 คน หรือ 118,013 คน

นักเทคนิคการแพทย์ 1:11,000 คน หรือ 4,130 คน และนักกายภาพบำบัด 1:10,000 คน หรือ 4,543 คน เป็นต้น แต่ปัจจุบันมีแพทย์อยู่ที่ 14,956 คน ทันตแพทย์ 4,437 คน เภสัชกร 6,994 คน พยาบาล 100,783 คน นักเทคนิคการแพทย์ 3,135 คน และนักกายภาพบำบัด 1,995 คน

ดังนั้น จำนวนที่ต้องผลิตเพิ่ม แพทย์ 11,007 คน ทันตแพทย์ 2,989 คน เภสัชกร 334 คน พยาบาลวิชาชีพ 17,230 คน  นักเทคนิคการแพทย์ 995 คน และ  นักกายภาพบำบัด 2,548 คน เมื่อดูภาพรวมทั้ง 21 สายวิชาชีพ เป็นจำนวนที่ต้องผลิตเพิ่มกว่า 70,000 คน ซึ่งกำหนดเป็นแผนทยอยผลิตในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2560

ในส่วนของการเสนอขอตำแหน่งข้าราชการบรรจุนั้น นอกจากจำนวนตำแหน่งอัตราที่ต้องรองรับการผลิตบุคลากรข้างต้นแล้ว เริ่มตั้งแต่ปี 2556-2560 ยังต้องเสนอขออัตราบรรจุข้าราชสำหรับลูกจ้างชั่วคราวกลุ่มวิชาชีพที่ยังคงค้าง และได้เรียกร้องขอความเป็นธรรมอยู่ในขณะนี้ โดยเริ่มไล่บรรจุอัตราคงค้างตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2555 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 24,536 คน (จากจำนวนลูกจ้างชั่วคราวในระบบทั้งหมด 120,000 คน) รวมถึงพนักงานราชการอีก 1,987 คน โดยในปีนี้เตรียมเสนอขออัตราบรรจุที่คงค้างใน 2 ปีแรกก่อน คือ ปี 2549-2550 คน จำนวน 7,521 อัตรา งบประมาณ 302 ล้านบาท (ก.ค.-ก.ย. ปี 2555) ที่เป็นไปตามแผนกรอบอัตรากำลัง 5 ปี

"ในส่วนของลูกจ้างชั่วคราววิชาชีพ ที่คงค้าง หากขอทาง ก.พ.คราวเดียว  25,000 อัตราคงเป็นไปได้ยาก จึงต้องขอทยอยบรรจุแทนและทำตัวเลขตำแหน่งที่ขอบรรจุให้ชัดเจน ทั้งนี้แผนอัตรากำลังคนด้านสุขภาพนี้ จะมีการเชิญสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และ สำนักงบประมาณมาช่วยดูแผนทั้งหมด" นพ.โสภณ กล่าว

นอกจากนี้เขายอมรับว่าแผนนี้ถือว่าสุดโต่ง แต่ทำให้ภาพจำนวนอัตราบรรจุที่ชัดเจน และคงต้องรีบเร่งดำเนินการเนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้รีบแก้ไขปัญหาหลังมีพยาบาลวิชาชีพเข้าร้องเรียน

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า หากแผนดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ จะส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาหลายด้าน ทั้งปัญหาขาดแคลนบุคลากร การสร้างขวัญกำลังใจเพื่อดึงให้บุคลากรอยู่ในระบบ ชะลอการไหลออกไปภาคเอกชน ซึ่งมีตัวเลขว่าบุคลากรกว่าครึ่งหนึ่ง ทั้งแพทย์และพยาบาลต่างลาออกในปีแรก หลังเรียนจบและเข้าทำงาน

นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระงบประมาณของโรงพยาบาลที่ต้องนำเงินบำรุงไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนลูกจ้างชั่วคราว เพราะการบรรจุตำแหน่งจะทำให้มีเงินจากภาครัฐมาอุดหนุนเป็นเงินเดือนบุคลากรเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเกือบครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 40 เป็นลูกจ้างชั่วคราว ส่งผลกระทบต่องบประมาณโรงพยาบาล ที่พบว่ายังมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่งบการเงินยังอยู่ในภาวะวิกฤติอยู่

"นอกจากค่าตอบแทนลูกจ้างชั่วคราวที่โรงพยาบาลต้องแบกรับแล้ว ยังมีนโยบายขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท และค่าแรง 300 บาท หากปรับเพิ่มทั้งหมดต้องใช้เม็ดเงินในภาพรวมถึง 3,000 ล้านบาท ดังนั้นที่ผ่านมาจึงได้มีการพูดคุยกับบุคลากร โดยจะปรับเงินเดือนเพิ่ม 700 บาทเท่ากันหมดแทน ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขเซ็นลงนามแล้ว และมีผลย้อนหลังเดือนม.ค. 2555 ที่ผ่านมา

ปัญหาบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข เรื่องอัตราบรรจุลูกจ้างชั่วคราวถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ยังต้องรอการแก้ปัญหาอยู่

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 29 มิ.ย. 55