ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

วินาทีแรกที่คุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ตื่นเต้นที่สุด น่าจะเป็นวินาทีที่ได้เห็นหน้าลูกหลังจากคุณแม่ตั้งครรภ์มายาวนานกว่า 44 สัปดาห์ ก่อนที่จะดูว่าลูกหน้าเหมือนใคร ผู้ปกครองหลายคนคงลุ้นว่าลูกจะมีอาการครบ 32 หรือไม่

สถิติการบันทึกข้อมูลการเกิดปากแหว่งและ/หรือเพดานโหว่ในประเทศไทย พบอุบัติการณ์ 1 ต่อการคลอดมีชีพ 800 ราย พบมากในภาคเหนือและภาคอีสาน อุบัติการณ์ในภาคอีสานมีมากถึง 2.5 รายต่อการคลอดมีชีพ 1,000 ราย ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 800,000 รายต่อปี ก็เท่ากับว่าประเทศไทยจะมีเด็กแรกเกิดที่ปากแหว่ง/เพดานโหว่กว่าปีละ 1,000 คน

ความพิการส่วนอื่น ยังพอรับได้นะครับ แต่ความพิการบนใบหน้า หลายคนทำใจยอมรับได้ยากทารกที่มีเพดานโหว่ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก เพราะการดูดนมไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์เนื่องจากรอยโหว่ที่เกิดขึ้นที่เพดานปาก ทำให้เด็กมักจะสำลักนมหรืออาหาร ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจหรือลุกลามจนเป็นปอดบวม หรือขาดสารอาหารเนื่องจากมีปัญหาจากการดูด การกลืนอาหาร นอกจากปัญหาที่เกิดกับร่างกายแล้ว เมื่อเติบโตขึ้นอาจส่งผลกระทบทางด้านจิตใจทำให้เด็ก รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่กล้าเข้าสังคมและอาจเป็นโรคซึมเศร้า

โชคดีตรงที่ความพิการปากแหว่งเพดานโหว่นี้ส่วนใหญ่เป็นความพิการที่เกิดขึ้นบริเวณใบหน้าและขากรรไกร ไม่มีความผิดปกติของสมอง พบว่าเมื่อได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีพัฒนาการที่ดี สามารถอยู่ร่วมกับกับผู้อื่นในสังคมและสามารถเป็นกำลังสำคัญแก่ประเทศชาติและสังคมได้ในที่สุด

การรักษาความพิการจากปากแหว่งเพดานโหว่จำเป็นต้องอาศัยสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ศัลยแพทย์ช่องปากและใบหน้า ศัลยแพทย์พลาสติก วิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์ ทันตแพทย์เด็ก จิตแพทย์ นักอรรถบำบัด และทันแพทย์จัดฟัน โดยมีระยะเวลาในการรักษาและฟื้นฟูยาวนาน

ในปี 2547 สภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมมือจัดทำโครงการ"ยิ้มสวยเสียงใส" ขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา50 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเร่งค้นหาผู้ป่วยที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ และนำเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อลดความพิการบนใบหน้า และสามารถพูดออกเสียงได้เหมือนคนปกติ มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 ม.ค. 2547-30 ก.ย. 2551 และแม้ว่าโครงการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังคงค้นหาผู้ป่วยและนำเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ทว่า ยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมจัดฟัน เนื่องจากทันตแพทย์จัดฟันมีจำนวนน้อยและมักอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ในบางจังหวัด สมาคมทันตแพทย์จัดฟันจึงได้จัดโครงการ "ทันตกรรมจัดฟันสัญจรเพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่" ขึ้น ได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2553 โดยพาทันตแพทย์และทันตแพทย์จัดฟันที่มีจิตอาสาไปจัดฟัน ไปดูแลสุขภาพในช่องปากแก่ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เดือนละครั้ง ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในโอกาสอันเป็นมงคลครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้งสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทยสมาคมฯโดยคณะกรรมการสมาคมฯได้มีมติให้มอบเงินจำนวน 100,000 บาทให้กับสภากาชาดไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นการทำบุญวันเกิดของสมาคมฯ และสมาคมฯขอเชิญประชาชน หน่วยงานราชการและภาคเอกชนที่มีจิตเมตตา มามีส่วนร่วมสนับสนุนช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ให้ได้มีโอกาสมารับการรักษา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีความลำบากน้อยลงและสามารถดำรงชีวิตในสังคมในสภาพที่มีทั้งร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์ขึ้น โดยสามารถบริจาคให้กับสภากาชาดไทยชื่อบัญชี"สภากาชาดไทย (โครงการศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการอื่น)" เลขที่ 045-2-88000-6 โอนเงินแล้ว  Fax สำเนาการโอนมาที่ 02-2564069 หรือ 02-2564064 พร้อมชื่อ ที่อยู่ของผู้บริจาค จากนั้นสภากาชาดไทยจะส่งใบเสร็จไปตามที่อยู่ที่แจ้งไว้

เชิญชวนทุกท่านมาร่วมทำบุญกันครับ