ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

'ปชป.'ซัดนโยบายร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค ทำระบบสาธารณสุขถอยหลังขณะที่โรงพยาบาล'รัฐ-เอกชน'จังหวัดต่างๆ แห่ร่วมโครงการ

เมื่อวันที่ 1 กันยายน นายวิทยา บุรณศิริรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)เดินทางไปเป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารอำนวยการ ผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุฉุกเฉิน 7 ชั้น ของโรงพยาบาล(รพ.) ตรัง อ.เมือง จ.ตรัง พร้อมทั้งติดตามผลการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้ประชาชนซึ่งใช้สิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร่วมจ่าย 30 บาท รักษาทุกโรคแบบสมัครใจ ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดให้สถานพยาบาลขนาดใหญ่ในเครือข่ายทั่วประเทศ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไป

นายวิทยากล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะเพิ่มคุณภาพบริการ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี คนป่วยหายเร็ว คนปกติมีสุขภาพแข็งแรง มีระบบบริการสาธารณสุขได้มาตรฐาน และเข้าบริการได้ทั่วถึงและทัดเทียม ซึ่งจากการติดตามนโยบายร่วมจ่ายในวันแรกนี้ ที่รพ.ตรัง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 535 เตียง มีจำนวนผู้ป่วยมารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอกวันละ 1,600-1,800 ราย และผู้ป่วยในวันละ 450-500 รายต่อวัน พบว่าเป็นไปอย่างราบรื่นดี เนื่องจากผู้บริหารมีการเตรียมการไว้อย่างดี

ส่วนบรรยากาศการเข้ารับบริการตามโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ พบว่าเป็นไปตามปกติ โดยที่ รพ.รวมแพทย์ ต.หายยาอ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีผู้ป่วยนอกรอตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคและรักษาค่อนข้างบางตามีผู้มาใช้บริการ 40-50 คน เนื่องจากเป็นวันเสาร์ทางโรงพยาบาลเปิดให้บริการครึ่งวัน

นางลัดดา ขัติแก้ว อายุ 60 ปี ชาวต.หายยา กล่าวว่า ใช้บริการที่โรงพยาบาล4-5 ปีแล้ว ที่ผ่านมาถือว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติส่วนการเริ่มใช้นโยบายร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาท รักษาทุกโรคแบบสมัครใจ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมค่าบริการทางการแพทย์ ถือเป็นสิ่งที่ดีคุ้มค่า เชื่อว่าประชาชนกว่า 90% เห็นด้วย อาจมีเพียง 10% ที่มีฐานะดีอาจไปใช้บริการเอกชน ซึ่งแต่ก่อนตนก็เคยใช้บริการคลินิกเอกชน เสียค่ารักษาครั้งละ 400-500 บาทถ้าต้องเสียค่ารักษาแค่ 30 บาท ก็เหมือนรักษาฟรี แพทย์ที่ตรวจและวินิจฉัยโรคก็ดูแลเอาใจใส่ คุณภาพยาได้มาตรฐานไม่แพ้เอกชน ส่วนตัวพึงพอใจกับบริการของทางโรงพยาบาล

นพ.สุรสีห์ วิศรุตรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องความสมัครใจต้องการมีส่วนร่วมจ่าย แต่ไม่ได้บังคับผู้ใช้บริการ ถ้าไม่จ่ายก็ไม่มีปัญหา เหมือนรักษาฟรี ซึ่งได้ประชุมทำความเข้าใจกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน 25 อำเภอแล้ว โดยขณะนี้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการกว่า50 แห่ง เป็นของเอกชน 4-5 แห่ง ซึ่งที่ จ.เชียงใหม่ มีประชากร 1.6 ล้านคนใช้สิทธิ 30 บาท มากที่สุด รองมาเป็นประกันสังคม และราชการ ซึ่งรัฐอุดหนุนค่ารักษาปีละ 1,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากที่สุด

ที่ รพ.ศูนย์ลำปาง ประชาชนที่มาใช้บริการรักษาโรคทั่วไป ส่วนใหญ่ยังไม่รับทราบและไม่เข้าใจนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท รักษาทุกโรคแบบสมัครใจ แต่ส่วนใหญ่ก็ยินยอมที่จะจ่าย เพราะเห็นว่าดีกว่าจ่ายค่ารักษาโรคที่มากตามความเป็นจริง

นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร นพ.สสจ.ลำปางกล่าวว่า จ.ลำปางมี 13 อำเภอ โดยมีรพ.ศูนย์ลำปาง และ รพ.ประจำอำเภอเข้าร่วมอีก 12 แห่ง ทั้งนี้ ตนมองว่าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าร่วมจ่าย 30 บาท รักษาทุกโรคแบบสมัครใจ เป็นสิ่งดีเพราะจะได้นำเงินไปใช้จ่ายในการดูแลและรักษาทางการแพทย์ของ รพ.ต่างๆ แก่ประชาชนอย่างเพียงพอต่อไป

ที่ จ.พัทลุง มีประชาชนไปใช้บริการที่รพ.พัทลุง ค่อนข้างบางตา เนื่องจากเป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ทราบที่รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาท โดยนางชลธิชา แกล้วทนงค์ อายุ 31 ปี ชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง กล่าวว่า ตนใช้สิทธิบัตรทอง และวันนี้เข้ามารับบริการที่ รพ.พัทลุงด้วยอาการปวดท้อง เมื่อมาถึงห้องจ่ายยาทางเจ้าหน้าที่บอกว่า ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบริการ 30 บาท ที่เริ่มใช้วันนี้เป็นวันแรก ซึ่งตนไม่ทราบว่ามีนโยบายนี้ และขอใช้สิทธิไม่ประสงค์จ่ายค่าบริการ นโยบายนี้ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากในขั้นตอนให้บริการเพราะผู้ป่วยหลังเข้ารับการตรวจแล้วก็อยากจะกลับบ้านไปพักผ่อน แต่ต้องมาตอบคำถามและเซ็นเอกสาร หากมีนโยบายอย่างนี้ควรจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบมากกว่านี้

ที่ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์เขตมีประชาชนเข้ามาใช้บริการ 200-300 คนโดยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข่าวนี้ และหลายคนพากันสอบถามเจ้าหน้าที่ว่า ทำไมต้องจ่ายเงินด้วย เพราะที่ผ่านมารักษาฟรี ซึ่งทางโรงพยาบาลต้องจัดเจ้าหน้าที่ไว้ตอบคำถามและอธิบายประชาชนให้เข้าใจ โดยทุกรายต่างยินดีจ่ายคนละ 30 บาท ให้กับโรงพยาบาลที่ จ.นครราชสีมา นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล นพ.สสจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่าสถานพยาบาลต่างๆ ใน จ.นครราชสีมา ที่เข้าร่วมโครงการ มีประชาชนที่เข้าใช้บริการยังไม่เข้าใจถึงนโยบายดังกล่าว และเข้ามาสอบถามเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา ซึ่งแต่ละวันมีผู้มาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 4,000 คน จะมีปัญหาเรื่องที่ประชาชนไม่เข้าใจแล้วมาสอบถามที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์กันอย่างเนืองแน่น ตนจึงให้นโยบายกับโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆ ให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงแล้ว ทั้งนี้ ใน จ.นครราชสีมา มีโรงพยาบาลและสถานพยาบาลภาครัฐเข้าร่วมโครงการนี้ 30 แห่ง และภาคเอกชนอีก 4 แห่ง ซึ่งทุกแห่งพร้อมดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลด้วยความยินดี

วันเดียวกัน ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. แถลงกรณีรัฐบาลมีนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท รักษาทุกโรคแบบสมัครใจว่าเรื่องนี้จะทำให้ระบบสาธารณสุขถอยหลัง เพียงเพื่อจะสร้างแบรนด์ให้ประชาชนจดจำ แต่มีปฏิกิริยาต่อต้านในวงกว้างจากโรงพยาบาลต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกับการไปจัดเก็บเงินอีกครั้งทั้งนี้ ยืนยันว่าการรักษาฟรีโดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว จะได้รับประโยชน์มากกว่าการที่จะต้องพกบัตรทองแล้วเสียเงิน30 บาท ในการรักษา

--มติชน ฉบับวันที่ 3 ก.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--