ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"วิทยา" เล็งขยายสิทธิผู้ป่วยไต-เอดส์ ครอบคลุมทุกกองทุน ต.ค.นี้ และต่อเนื่องปี 2556 เดินหน้าขยายสิทธิผู้ป่วยมะเร็ง ขณะที่โครงการฟื้นเก็บ 30 บาท พบผู้ป่วยร้อยละ 80 ยินดีร่วมจ่าย มีเพียงร้อยละ 20 ที่ไม่ประสงค์จ่าย ขณะที่ "สปสช." ระบุมีหน่วยบริการหลายแห่งไม่เก็บ 30 บาท ทั้ง รพ.ขนาดใหญ่สังกัด สธ.-โรงเรียนแพทย์ เหตุเงินจัดเก็บน้อย ยอมรับอาจทำให้ประชาชนสับสน

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวในงานแถลงผลงานครบรอบ 1 ปีรัฐบาลด้านสาธารณสุขว่า ในปี 2556 จะเดินหน้าขยายสิทธิให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทุกกองทุน ได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียม แม้ย้ายสิทธิต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกกองทุนจะต้องได้รับยาต้านไวรัส ที่ระดับค่าซีดีโฟว์ (CD4) หรือค่าภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ที่ระดับ 350 เนื่องจากหากได้รับยาต้านไวรัสเร็วก็จะส่งผลดีต่อผู้ป่วยในการป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ  ซึ่งจะเดินหน้าในเดือน ต.ค.นี้  นอกจากนี้ จะขยายสิทธิเรื่องผู้ป่วยมะเร็งให้ได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมทุกกองทุนด้วย โดยจะมีการหารืออีกครั้งให้ได้ภายในปี 2556

ส่วนความคืบหน้านโยบายจัดเก็บ 30 บาท รมว.สธ.กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าประชาชนต่างพึงพอใจ โดยในส่วนของการจัดเก็บ 30 บาทในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ร่วมจ่ายร้อยละ 80 มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่แสดงความประสงค์ไม่ร่วมจ่าย ซึ่งในกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ร่วมจ่ายนั้น ไม่ได้เป็นเพราะไม่มีเงินที่จะร่วมจ่าย แต่เป็นเรื่องความพึงพอใจและแสดงจุดยืนต่อนโยบายเท่านั้น

"จากการจัดเก็บ 30 บาทที่มีผู้ร่วมจ่ายถึงร้อยละ 80 ชี้ให้เห็นว่าประชาชนที่เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่ต้องการให้มีการยกระดับการบริการของสถานพยาบาล และยังถือเป็นศักดิ์ศรีของผู้ป่วยเองที่ต้องการได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ส่วนผู้ประสงค์ไม่ร่วมจ่ายร้อยละ 20 นั้น เราไม่ต้องการงบประมาณตรงนั้น เพียงแต่เรื่องนี้ถือเป็นศักดิ์ศรี แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนไม่ร่วมจ่ายไม่มีศักดิ์ศรี เพราะถือเป็นแนวคิดและจุดยืนของเขา และตามหลักเกณฑ์ยกเว้นการจัดเก็บ 30 บาท ข้อ 21 ได้ระบุยกเว้นไว้ให้" รมว.สธ.กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการเดินหน้าพัฒนาระบบบริการ คือ 1.การพัฒนาระบบรักษาพยาบาลเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาทุกที่ 2.การย้ายสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน โดยสามารถเปลี่ยนสถานพยาบาล 4 ครั้งต่อปี ใช้เวลาดำเนินการเพียง 4-5 วันในการย้ายสิทธิเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ต้องเปลี่ยนที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงานตามการเติบโตของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป 3.การปรับเปลี่ยนเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน ให้เริ่มต้นที่โรงพยาบาลก่อนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2555 และ 4.การเน้นบริการผู้สูงอายุ 70 ปี ไม่มีคิว ทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนาเพื่อยกระดับบริการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนโชว์ผลงาน 1 ปีมีดี 4 เรื่อง นอกจากนี้นายวิทยาได้แถลงผลงาน "365 วันกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการดูแลสุขภาพประชาชน" ว่า ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง รมว.สธ.ได้ดำเนินการสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระบบสุขภาพของไทย โดยในส่วนของนโยบายเร่งด่วนด้านสาธารณสุข มี 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.พัฒนาระบบประกันสุขภาพ ในเรื่องของ 30 บาทยุคใหม่เพิ่มคุณภาพ โดยให้ประชาชนร่วมจ่าย 30 บาทนำสู่การพัฒนาบริการให้มีคุณภาพขึ้น "ได้มีการบูรณาการสิทธิประโยชน์ระหว่างกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุนทั้ง 30 บาท ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเริ่มต้นที่โครงการ "เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น"  ที่ดำเนินการเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2555 สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ 2,638 คน อัตรารอดชีวิตสูงถึงร้อยละ 90.5 โดยเอแบคโพลล์สำรวจเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2555 พบว่าประชาชนให้คะแนนพึงพอใจเป็นอันดับ 1 จาก 19 โครงการเร่งด่วนของรัฐบาลและผมก็พอใจกับการดำเนินงานของนโยบายนี้" นายวิทยากล่าว  2.การบำบัด รักษา ฟื้นฟูผู้เสพยาและสารเสพติด ให้การบำบัดผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดทั้งหมด 408,776 ราย ทะลุเป้าหมายที่กำหนด 4 แสนราย  3.พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้พัฒนามัสยิดส่งเสริมสุขภาพ 2,125 แห่งจากทั้งหมด 3,228 แห่ง และพัฒนาอาหารในโรงพยาบาลทั่วประเทศที่มีชุมชนมุสลิมให้ได้มาตรฐานอาหารฮาลาล และ 4.การสร้างความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ชี้ยังมีหลาย รพ.ยังไม่เก็บ 30 บาท

ด้าน นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภายหลังเดินหน้าเก็บ 30 บาท ขณะนี้ สปสช. ได้ประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อทำการประเมินว่าผลการดำเนินงานเป็นอย่างไรบ้าง แต่คิดว่าไม่เป็นปัญหา เพราะก่อนหน้านี้โรงพยาบาลต่างคุ้นเคยกับการจัดเก็บ 30 บาทในอดีตมาแล้ว เบื้องต้นเท่าที่รายงานทั่วไปไม่เป็นปัญหา แต่อาจมีบ้างในเรื่องความเข้าใจของหน่วยบริการและประชาชนบางส่วน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติเพื่อแจกจ่าย

นอกจากนี้ปัญหาที่พบ ยังมีเรื่องมาตรฐานของหน่วยบริการที่พบว่า บางแห่งมีการจัดเก็บ 30 บาทตามนโยบายของรัฐบาล แต่บางแห่งก็ไม่จัดเก็บ โดยเฉพาะในกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทั้งที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลในกลุ่มโรงเรียนแพทย์ เนื่องจากเห็นว่าภาระงานที่เพิ่มขึ้นไม่คุ้ม อีกทั้งงบประมาณที่จัดเก็บได้แค่อยู่ที่หลักแสนบาทถือว่าเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากภาครัฐโดยตรง และค่ารักษานับร้อยล้านบาทต่อเดือน

"มีโรงพยาบาลหลายแห่งยังไม่ได้จัดเก็บ 30 บาทเลย จากจำนวนกว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศ บางแห่งบอกว่าระบบยังไม่พร้อม แต่บอกไม่ได้ว่ามีกี่แห่งที่ยังไม่เก็บ 30 บาท คงต้องรอรวบรวมข้อมูลก่อน" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า ยอมรับว่าการที่หน่วยบริการบางแห่งจัดเก็บ บางแห่งไม่จัดเก็บอาจสร้างความสับสนให้กับประชาชนได้ โดย สปสช.จะมีการประเมินผลอย่างต่อเนื่องทุกๆ 3 เดือน

ขณะที่ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้มีเครือข่ายลงไปจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ ซึ่งในสัปดาห์หน้าคงได้มีการพูดคุยกัน ทั้งนี้เห็นว่าที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกมาระบุว่า มีประชาชนที่ร่วมจ่าย 30 บาทถึงร้อยละ 80 นั้น ขอเรียนว่า จากการเข้ารับบริการของผู้ป่วย ส่วนหนึ่งต่างระบุว่าได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ให้จ่าย 30 บาท แต่ไม่ได้รู้ถึงสิทธิ์ว่าสามารถแสดงความจำนงที่จะไม่ขอจ่าย 30 บาทได้ ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่สะท้อนกลับมา

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 8 ก.ย. 55