ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สปสช.ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบกรณี รพ.เอกชนใน กทม.เรียกเก็บค่ารักษาฉุกเฉินผู้ป่วยเส้นเลือดสมองแตกกว่า 3 แสนบาท ชี้ต้องคืนเงินค่ารักษาผู้ป่วย จี้ สธ.เข้าจัดการในฐานะคุมกฎหมายประกอบโรคศิลปะ แนะญาติฟ้องรพ.เหตุทำผิดกฎหมาย ขัดนโยบายรัฐ ชี้รัฐบาลต้องจัดการกับโรงพยาบาลที่ไม่ทำตามนโยบายรัฐ

นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการร้องเรียนปัญหาการใช้สิทธิเข้ารับการรักษาในภาวะฉุกเฉินจากอาการเส้นเลือดแตกในสมองที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. ซึ่งผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินกว่า 3 แสนบาทนั้น เรื่องนี้ทาง สปสช. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทำการตรวจสอบแล้ว ซึ่งเหตุการณ์นี้ต้องบอกว่าไม่ใช่เหตุการณ์แรก ที่ผ่านมามีการร้องเรียนการเข้ารับบริการในภาวะฉุกเฉินเข้ามาหลายกรณี แต่ไม่ได้ถูกนำเสนอเป็นข่าว และเชื่อว่าคงไม่ใช่เป็นกรณีสุดท้าย เพียงแต่รายนี้น่าเห็นใจเพราะผู้ป่วยเสียชีวิต

นพ.วีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ในระบบบริการรักษาพยาบาลบ้านเรามีความหลากหลาย รวมไปถึงความร่วมมือ ซึ่งในกรณีของการเจ็บป่วยฉุกเฉิน แม้จะไม่มีการรวมบริหารจัดการระบบฉุกเฉิน ทางโรงพยาบาลไม่ว่ารัฐหรือเอกชนจะต้องให้การรักษาผู้ป่วยอยู่แล้ว เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบโรคศิลป์ 2542 กระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่สามารถปฏิเสธคนไข้ได้ หากปฏิเสธไม่รักษาจะถูกดำเนินการเพื่อลงโทษตามกฎหมาย โดยในกรณีนี้อยากขอให้ญาติทำการฟ้องร้องโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว เพราะเป็นการกระทำผิดที่เห็นได้ชัดเจน เป็นการใช้เงินเพื่อเป็นแรงจูงใจในการรักษา อีกทั้งยังไม่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นปัญหาสังคม ไม่ใช่แต่เรื่องระบบเท่านั้น โดยรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้าไปจัดการ และเอาจริงเอาจังกับโรงพยาบาลที่ไม่ดำเนินการตามนโยบายรัฐที่ประกาศไว้ นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขเองที่ถือ พ.ร.บ.ประกอบโรคศิลปะก็ควรที่จะเข้าไปดำเนินการกับโรงพยาบาลที่กระทำผิดอย่างจริงจัง เนื่องจาก สปสช.เป็นเพียงหน่วยงานดูแลระบบเท่านั้น ไม่มีอำนาจดำเนินการเอาผิดกับโรงพยาบาลได้" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีทางญาติผู้เสียชีวิตระบุว่า ได้โทรศัพท์ไปยัง1330 และได้รับคำตอบว่าต้องมีการแจ้งขอใช้สิทธิ์ก่อนนั้น นพ.วีระวัฒน์ กล่าวว่า โดยปกติการใช้สิทธิกรณีฉุกเฉินสามารถเข้ารับบริการได้เลย เพียงแต่ญาติหรือคนใกล้ชิดอาจอยู่ในภาวะที่ตระหนกกังวลจึงไม่ได้คิดถึงตรงนี้ และส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการทำประชาสัมพันธ์ของ สปสช.อาจยังไม่ทั่วถึงพอ อย่างไรก็ตามจากการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดูแล เห็นว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้ หากทางญาติได้มีการจ่ายเงินค่ารักษาไปแล้ว ทางโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้จะต้องจ่ายเงินคืน

รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า งบประมาณที่ สปสช.ตั้งเพดานเพื่อจ่ายค่ารักษานี้ ยืนยันว่าเพียงพอต่อการบริการ แต่อาจไม่มากที่ได้จะกำไรเหมือนกับจัดเก็บค่ารักษากับทางผู้ป่วยโดยตรง อย่างไรก็ตามกรณีนี้คงต้องมีการไกล่เกลี่ย

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 ก.ย. 2555