ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สธ. งัด พาณิชย์ ค้านเอฟทีเอ ไทย-อียู ขยายอายุคุ้มครองสิทธิบัตร 5 ปี หวั่นกระทบต่อการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ กระทบประชาชนเข้าถึงยา แพทย์ชี้ราคายาต้นแบบสูงกว่ายาสามัญ กระทบค่าใช้จ่ายยาพุ่งนับแสนล้าน "สภาที่ปรึกษาฯ" แนะทีมเจรจายึดกรอบข้อตกลงทริปส์ ชี้ให้สิทธิบัตรกับอียู เท่ากับให้สิทธิพิเศษสมาชิก WTO ทั้งหมด

จากกรณีที่ไทยเตรียมเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป (เอฟทีเอ ไทย-อียู) โดยการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรและข้อมูลยาออกไปอีก 5 ปีคือประเด็นหนึ่งที่มีข้อถกเถียง มากที่สุด

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2555 ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อตกลงในการเจรจา โดยเฉพาะข้อเรียกร้องการเจรจาของทางสหภาพยุโรปที่นำเสนอมา ก่อนนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

การหารือมีประเด็นที่มีความอ่อนไหว คือ 1.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ 2.ทรัพย์สินทางปัญญา 3.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 4.นโยบายการแข่งขันทางการและค้า และ 5.การเปิดตลาดสินค้าบริการ  ในส่วนของประเด็นอ่อนไหวด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ครอบคลุมถึงยาและเวชภัณฑ์ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้แสดงความห่วงใยต่อข้อเรียกร้องของทางอียู ที่ขอให้ 1.การขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างน้อย 5 ปี 2.การคุ้มครองข้อมูลในรูปแบบการได้รับสิทธิพิเศษเพียงผู้เดียวเหนือข้อมูลที่ยื่นทะเบียนยาครั้งแรกและครั้งต่อไป อย่างน้อย 5 ปี (Data exclusivity)

และ 3.การจับยึด อายัด หรือทำลายสินค้ายาและเวชภัณฑ์ที่สงสัยว่าอาจจะละเมิดสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นๆ ณ จุดผ่านแดน เพราะทั้ง 3 ข้อเรียกร้อง อาจส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ของรัฐ  กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาโดยกรณี พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2535 ที่มีการแก้ไขขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 15 ปี เป็น 20 ปีและการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิบัตรยา ส่งผลให้เกิดความพลิกผันของมูลค่าการใช้จ่ายยาในประเทศ ระหว่างยานำเข้าและมีสิทธิบัตรกับยาผลิตในประเทศ จากเดิมที่มูลค่าการใช้ยานำเข้าอยู่ที่ 34% และมูลค่าการใช้ยาผลิตในประเทศอยู่ที่ 66% ของมูลค่าการใช้ยาทั้งประเทศ  แต่ปัจจุบันมูลค่าการใช้ยานำเข้าอยู่ที่ 77% ขณะที่มูลค่าการใช้ยาที่ผลิตในประเทศเหลือเพียงแค่ 23% เท่านั้น จากมูลค่ายา ของทั้งประเทศอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท (ข้อมูลปี 2554) ทั้งนี้เนื่องมาจากการนำเข้ายาสิทธิบัตรที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่องบประมาณภาครัฐ ความยั่งยืนการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตและการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมยาภายในประเทศอย่างมาก เกิดการชะลอผลิตยาสามัญใหม่ๆ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้

เผยเกินกว่าข้อตกลงทริปส์

ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ประเด็นการขอขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างน้อย 5 ปีและการผู้ขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนยาเป็นหนึ่งในข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ทางอียูเรียกร้อง ถือเป็นเรื่องที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights (TRIPS) ที่เป็นการตกลงระหว่างประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO)  อีกทั้งการเจรจานี้หากไทยทำการตกลงจะส่งผลประโยชน์ไปยังกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ด้วยแม้ไม่ได้เข้าร่วมเจรจา เนื่องจากตามมาตรา 4 ขององค์การการค้าโลกกำหนดไว้ว่าในการตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา จะต้องให้ประโยชน์ไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆ อย่างไม่มีเงื่อนไข ดังนั้นแม้ว่าไทยจะยังไม่ได้เจรจากับทางสหรัฐและญี่ปุ่น แต่ประเทศเหล่านี้ก็จะได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลงไทย-อียูไปด้วย ดังนั้นทางฝ่ายวิชาการจึงขอให้รัฐบาลยึดกรอบการเจรจาที่ต้องไม่เกินจากข้อตกลงทริปส์กำหนดไว้

"ต้องมีจุดยืนที่เข้มแข็งในการเจรจา ไม่เช่นนั้นจะเสียประโยชน์ ไม่แต่กับเฉพาะอียูเท่านั้น แต่จะเสียประโยชน์ให้กับกลุ่มประเทศสมาชิก WTO ทั้งหมดด้วย " สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหวั่นผูกขาดยาระยะยาว

ดร.จิราพร กล่าวว่า การขอขยายอายุคุ้มครองสิทธิบัตรนับเป็นประเด็นอ่อนไหว ก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุขในอนาคต เนื่องจากจะทำให้ระยะเวลาการผูกขาดยาใหม่ๆ กินเวลายาวนานขึ้น ส่งผลกระทบต่อกลไกการผลิตยาสามัญโดยตรง ผลที่ได้คือทำให้ยาที่จำเป็นต้องเข้าถึงมีราคาแพงเป็นเวลายาวนาน โดยยาใหม่เป็นที่ทราบกันดีว่ามีราคาแพงมาก ดังนั้นหากยิ่งผูกขาดยาใหม่เป็นเวลานานเท่าไร จะทำให้ไม่มียาสามัญเพื่อเข้ามาคานอำนาจกลไกการตลาดให้ประชาชนเข้าถึง

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาสามัญโดยตรง เป็นที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมยาในบ้านเราปัจจุบัน ยังไม่ถึงขีดความสามารถที่จะคิดค้นยาใหม่ได้ แต่จะเป็นการผลิตยาสามัญใหม่ๆ แทน โดยเฉพาะยาที่ใกล้หมดสิทธิบัตร แต่ถ้ามีการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนยาแล้วย่อมต้องส่งผลกระทบ

"ราคายาใหม่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มรักษาโรคมะเร็งอยู่ที่หลักแสนหลักล้านบาท หากไม่มียาสามัญออกมา ราคายาเหล่านั้นก็ยังสูงมาก การเข้าถึงผู้ป่วยจะเป็นปัญหา"

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาราคายาต้นแบบมีการทำกำไรสูงเกินจริง เห็นได้จากการต่อรองราคายาในกลุ่มยาราคาแพงในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะยามะเร็งบางตัวที่ขายในท้องตลาดอยู่ที่ 30,000 บาท แต่เมื่อทำการต่อรองราคาสามารถลงมาอยู่ที่ 3,000 บาทเท่านั้น ชี้ให้เห็นถึงต้นทุน และหากเรายังปล่อยให้เกิดการผูกขาดด้วยการเจรจาดังกล่าวแล้วปัญหาการเข้าถึงยาก็จะมีมากขึ้น

"เป็นห่วงการเจรจาครั้งนี้อย่างมาก หากมีการตกลงในประเด็นที่ทางอียูเรียกร้อง สิ่งที่ตามมาคือภาระงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ เชื่อว่าที่สุดรัฐบาลจะแบกรับไม่ไหวจากภาระค่ายาที่พุ่งขึ้น "ชี้ค่าใช้จ่ายยาเพิ่มนับแสนล้าน

ด้าน นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ผลักดันรณรงค์ให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล กล่าวว่า ปกติยาที่คิดค้นขึ้นใหม่จะมีสิทธิบัตรยาคุ้มครองอยู่แล้ว เพื่อเป็นรางวัลให้กับผู้ที่ลงทุนวิจัย ซึ่งจะมีช่วงเวลาที่สิ้นสุด เพื่อให้มีการผลิตยาสามัญขึ้น ช่วยให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เพราะยาถือเป็นสินค้าด้านมนุษยธรรม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ยาลดไขมัน ชื่อ ซิมวาสเตทิน จากเดิมเป็นยาติดสิทธิบัตร ราคาจะอยู่ที่เม็ดละ 50-60 บาท แต่หลังจากหมดสิทธิบัตรถูกผลิตยาสามัญขึ้น เหลือเพียงเม็ดละ 1-2 บาทเท่านั้น จะเห็นได้ว่ามีราคาถูกลงหลายสิบเท่า

นพ.พิสนธิ์ กล่าวว่า การรักษาพยาบาลของประเทศขณะนี้คนไทยไม่ได้จ่ายเงิน มีระบบรักษาพยาบาลดูแล ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ คนไทยจึงไม่ได้จ่ายค่ายาเอง ซึ่งหากมีการขยายอายุสิทธิบัตรออกไป นั่นหมายถึงอนาคตค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มขึ้นนับแสนล้านบาท  "รัฐบาลไม่ควรรับข้อตกลงในการเจรจาการขยายสิทธิบัตรอย่างยิ่ง เพราะค่าใช้จ่ายด้านยาจะเพิ่มขึ้นนับแสนนับล้านบาท ทั้งยังกระทบต่อผู้ป่วยโดยตรง "   อย่ามองประโยชน์ส่งออกระยะสั้น

ภก.เชิงพร เต็งอำนวย นายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) กล่าวว่า การยืดอายุสิทธิบัตรยา กรณียาและเวชภัณฑ์เป็นตัวอย่างผลกระทบที่เห็นชัดมากที่สุด ซึ่งปกติการคุ้มครองสิทธิบัตรในปัจจุบันมีอายุ 20 ปีอยู่แล้ว หากผู้ผลิตมีการนำยาใหม่ออกจำนวนสู่ท้องตลาดได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งคุ้มค่า

แต่ในการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูที่มีการเสนอให้ขยายสิทธิบัตรคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาออกไปอีก 5 ปีนั้น ต้องเข้าใจว่า ราคายาต้นแบบบางรายการราคาอยู่ที่เม็ดละ 40-50 บาท แต่เมื่อหมดอายุสิทธิบัตรจึงมียาสามัญผลิตออกมาแข่งขัน ทำให้ราคายาลงไปอยู่ที่เม็ดละ 1-2 บาทเท่านั้น ดังนั้นหากมีการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรออกไป นั่นหมายถึงภาระมูลค่ายาต้นแบบที่ต้องแบกรับ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าการใช้ยานับแสนล้านบาท

"หากรัฐบาลมองแค่เพียงผลประโยชน์ ส่งออกระยะสั้นๆ จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อผู้บริโภคภายในประเทศ ต่อระบบการ รักษาพยาบาล และงบประมาณประเทศ ที่ต้องแบบรับในระบบหลักประกันสุขภาพ ท้ายที่สุดจะย้อนกลับมายังรัฐบาลเอง" ภก.เชิงพร กล่าว

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 กันยายน 2555