ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ภาคประชาสังคมด้านการเข้าถึงยา ชี้ กมธ.สธ. วุฒิสภา ไม่มีความเข้าใจระบบสาธารณสุขในภาพรวม ทวงถามประธานวุฒิสภา ชี้แจงความไม่ชอบธรรมที่ใกล้ชิดบริษัทยาข้ามชาติ

ตามที่คณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหานโยบายและการดำเนินการของ 3 กองทุนสุขภาพ ในคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา อ้างว่า การควคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐบาลอาจทำให้เกิดวิกฤตในระบบการรักษาพยาบาลนั้น

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยมุลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตว่าจากเนื้อข่าวยังไม่เห็นบทวิเคราะห์ที่ชัดเจนของรายงาน อยากให้มีการเปิดเผยฉบับเต็มเพื่อให้นักวิชาการและองค์กรต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมวิเคราะห์ เพราะตามที่ให้ข่าวกับสื่อมวลชนนั้น ถือว่าเป็นบทวิเคราะห์ที่ไม่มีความเข้าใจต่อระบบสาธารณสุขในภาพรวม และอาจมีประเด็นที่ต้องการปกป้องประโยชน์ของ รพ.นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

“การควบคุมค่าใช้จ่ายของทุกระบบสุขภาพเป็นสิ่งถูกต้อง โดยมีกติกาเรื่องคุณภาพการรักษาเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งการจ่ายเงินแบบ DRG การใช้ยาในระบบบัญชียาหลัก และระบบควบคุมคุณภาพ ซึ่งหากคณะกรรมธิการมีความเข้าใจก็จะทราบดีว่า ระบบนี้สามารถคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนและดูแลโรงพยาบาลต่างๆได้”

ส่วนปัญหาการขาดแคลนงบประมาณจัดจ้างบุคลากรสาธารณสุขนั้น เป็นปัญหาที่เกิดจากการปฏิรูประบบราชการที่ขาดความเข้าใจในงานแต่ละกระทรวง แต่ใช้ภาพรวมของทั้งประเทศในการไม่เพิ่มจำนวนข้าราชการ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของระบบสุขภาพ กมธ.ที่ศึกษาควรเข้าใจต่อสภาพปัญหาเหล่านี้ จึงจะให้ข้อเสนอแนะต่อสังคมอย่างถูกต้อง

 

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ยังได้ทวงถามถึงคำชี้แจงจากคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภาถึงความไม่ชอบธรรมในการการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการดำเนินการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาที่ภาคประชาสังคมได้ร้องเรียนไปทางประธานวุฒิสภา ตั้งแต่ปลาย ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม เคยทำหนังสือร้องเรียนความไม่ชอบธรรมดังกล่าว เนื่องจากพบว่า รายชื่ออนุกรรมาธิการฯ มี พญ.กิติมา ยุทธวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (Chief Executive Officer of Pharmaceutical Research &Manufacturers Associatin / PReMA) ซึ่งเป็นสมาคมของบรรษัทยาข้ามชาติที่มีจุดยืนคัดค้านการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐมาโดยตลอด และสมาชิกของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) ก็เป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาที่ถูกประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตร ดังนั้นการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้จึงขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง และขอให้มีการตรวจสอบและแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้เกี่ยวข้องทราบโดยด่วน แต่ทางวุฒิสภาไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ แต่กลับปล่อยให้มีรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่องการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการดำเนินการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาที่มีข้อบกพร่องและข้อความบางจุดที่อาจก่อให้เกิดการเข้าใจผิด

 

“การประกาศซีแอลของไทยใช้เหตุผลตามมาตรา ๕๑ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ได้ใช้เหตุผลของการขาดแคลนอย่างรุนแรง ไม่เพียงเท่านั้น ในปกหลังของรายงานการศึกษาฉบับนี้ยังไปนำภาพปกหนังสือ ‘สิทธิบัตรยา เล่ห์อุบายการผูกขาด’ จัดพิมพ์เผยแพร่โดยแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ สิงหาคม ๒๕๕๒ โดยไม่มีการขออนุญาต ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งหมดนี้ ประธานวุฒิสภาควรตรวจสอบการจัดทำรายงานให้มีความถูกต้องและไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียแก่วุฒิสภาในภาพรวม”