ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สมาคมข้าราชการพลเรือน จี้ กมธ.สาธารณสุข ประสานกรมบัญชีกลางชะลอประกาศห้ามข้าราชการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ วอนเรียกหารือทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน การประชุมพิจารณาข้อร้องเรียนประกาศกรมบัญชีกลางในการควบคุมการเบิกจ่ายยา โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองประธานคณะกรรมา ธิการ กล่าวว่า ข้อร้องเรียนมี 3 เรื่อง คือ 1.ประกาศห้ามเบิกจ่ายยาบรรเทาข้อเสื่อม (กลูโคซามีนซัลเฟต) ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ 2.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องลงทะเบียนในระบบเบิกจ่ายตรงไว้กับโรงพยาบาลเพียง 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 โรงพยาบาล มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2555 และ 3.กำหนดเกณฑ์การเบิกยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยคณะกรรมาธิการ จะรับฟังปัญหา และนำไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ด้าน พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา สมาชิกสมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโส กล่าวว่า การห้ามเบิกจ่ายยาข้อเสื่อม และหันไปใช้ยา NSAIDS ซึ่งเป็นยาที่มีความเสี่ยง ทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหาร และยังมีแนวโน้มจะ สั่งห้ามจ่ายยา NSAIDS ซึ่งเป็น 1 ใน 9 กลุ่ม ยาที่กรมบัญชีกลางสั่งควบคุมก่อนหน้านี้ คือ ยาลดไขมันในเลือด ยาลดการเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาเบื้องต้นในการรักษาความดันโลหิตสูง และหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง ยาลดความดันโลหิต ยาป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ยาป้องกันกระดูกพรุน ยารักษามะเร็ง และยาข้อเสื่อม ส่วนการกำหนดเกณฑ์เบิกยานอกบัญชียาหลักฯ ถือเป็นการละเมิดวิชาชีพแพทย์และคนไข้ ทำให้แพทย์ไม่สะดวกในการรักษา

"มีข้อบังคับว่า หากแพทย์จะใช้ยานอกบัญชียาหลักฯ ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ อาทิ ให้ใช้ยาในบัญชียาหลัก ก่อน หากอาการไม่ดี มีผลข้างเคียงจึงใช้ยาอื่น ถามว่า เป็นธรรมกับคนไข้หรือไม่ จึงขอให้คณะกรรมาธิการทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลางให้ระงับประกาศไปก่อน และเปิดให้มีการหารือร่วมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนเพื่อหาทางออกร่วมกัน" พญ.เชิดชูกล่าว

ด้าน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ขอเสนอ 2 ทางเลือกกรณี 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 โรงพยาบาล คือ 1.เพิ่มโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนเป็น 2 แห่ง อาจเป็นโรงพยาบาลใกล้บ้าน และโรงพยาบาลใกล้ที่ทำงาน และ 2.กรณีรักษาในโรงพยาบาลนอกเหนือจากการลงทะเบียน ให้สำรองจ่ายไปก่อนและไปเบิกกับกรมบัญชีกลาง

นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการ 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 โรงพยาบาล ขัดกับนโยบาย สธ. เรื่องลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไปลงทะเบียนที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่  ซึ่งตรงนี้จะเพิ่มปัญหามากขึ้น

นายนพงศ์ ศิริขันตยกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวถึงการออกประกาศ 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 โรงพยาบาล ว่า ที่ผ่านมามีการรับยาซ้ำซ้อน ทำให้จ่ายยามากเกินความจำเป็น จึงต้องควบคุม ซึ่งหากผู้ป่วย 1 ราย มีโรคเรื้อรังหลายโรคก็สามารถรักษาที่โรงพยาบาลอื่นได้ และหากต้องการย้ายโรงพยาบาลก็ทำได้เช่นกัน

--มติชน ฉบับวันที่ 20 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--