ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.สปสช.พัฒนาระบบบริการผู้ป่วยฉุกเฉินและรายที่ป่วยด้วยโรคยุ่งยากซับซ้อน จับมือ 6 โรงพยาบาลภาครัฐที่อยู่ในกทม.ทั้งในและนอกสังกัด สร้างเครือข่ายบริการการรับ-ส่งรักษา ไร้ปัญหาเตียงไม่ว่าง นำร่องในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่รอบกทม. 29 แห่ง เริ่มตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป

วันนี้ (29 ตุลาคม 2555) ที่โรงพยาบาลราชวิถี กทม. นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีประกาศความร่วมมือในการกำหนดพื้นที่การส่งต่อผู้ป่วยและรับกลับ ระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสปสช. โรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่รอบกรุงเทพฯ กับรพ.สังกัดมหาวิทยาลัย รพ.สังกัดกรมการแพทย์ และสภากาชาดไทย

นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสปสช.พัฒนาระบบบริการสุขภาพ 2 เรื่องใหญ่ เพิ่มประสิทธิภาพระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ สะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งบูรณาการสิทธิของผู้ป่วย 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน ได้แก่ 1.การจัดแผนพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยในรูปของเครือข่ายบริการที่ไร้รอยต่อ (Seamless Health Service Network) เชื่อมโยงบริการ 3 ระดับเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หลีกเลี่ยงการลงทุนที่ซ้ำซ้อน

และ 2.การสร้างเครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วยจากต่างจังหวัดที่ป่วยฉุกเฉิน หรือป่วยด้วยโรคที่มีความยุ่งยากซับซ้อน เพื่อเข้ารักษาต่อในโรงพยาบาลที่อยู่ในกทม.ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและมีเทคโนโลยีชั้นสูง ได้แก่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัดมหาวิทยาลัย และสังกัดสภากาชาดไทย แก้ไขปัญหาเตียงเต็มหรือเตียงไม่ว่าง โดยได้ตั้งคณะกรรมการความร่วมมือระบบส่งต่อผู้ป่วยระดับประเทศ 1 ชุด มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.เป็นเลขานุการ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ในปี 2554 มีผู้ป่วยส่งต่อเข้ารักษาในพื้นที่กทม.รวม 89,778 ราย อันดับ 1 ที่รพ.ราชวิถี 13,386 ราย รองลงมาคือรพ.ศิริราช 12,933 ราย รพ.รามาธิบดี 8,455 ราย และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ 7,947 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับเลนส์และจอประสาทตา

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการวางระบบเครือข่ายการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยเบื้องต้นนี้ จะเริ่มในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่รอบกทม. 29 จังหวัดก่อน โดยมีโรงพยาบาลที่อยู่ในกทม. 6 แห่งเป็นแม่ข่าย แบ่งเป็น 4 โซนดังนี้ 1.รพ.ศิริราชดูแล 8 จังหวัดได้แก่ ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร 2.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ดูแล 7 จังหวัดได้แก่ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา สระแก้ว และปราจีนบุรี 3.รพ.ราชวิถี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ดูแล 7 จังหวัดได้แก่ สระบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี นนทบุรี ปทุมธานี นครนายก และอ่างทอง และ4.รพ.รามาธิบดีดูแล 7 จังหวัดได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา และสมุทรปราการ โดยสปสช.จะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

ทั้งนี้ เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว จะมีการประสานส่งกลับไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลเดิมที่ส่งตัวไป เพื่อลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ในกทม. และจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลในต่างจังหวัด ลดภาระด้านค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยให้สามารถรับบริการได้ที่สถานบริการใกล้บ้าน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นไป จากนั้นจะมีการประเมินผลและขยายในภูมิภาคอื่นๆ

ด้านนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า การประชุมประกาศความร่วมมือครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนนโยบายความร่วมมือในการพัฒนาการรับและส่งต่อผู้ป่วยข้ามจังหวัดในระดับพื้นที่ที่อยู่รอบกทม. ซึ่งแต่ละพื้นที่ (Area matching) จะร่วมมือกันกำหนดกลไกในการบริหารจัดการ และพัฒนาระบบการส่งต่อ-รับกลับผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งด้านการปฏิบัติ การประสานงาน การส่งต่อ การรับกลับ และการติดตามประเมินผล รวมทั้งพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลจังหวัดที่บริหารจัดการโดยคณะกรรมการในระดับพื้นที่ให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นโดยกำหนดกรอบในการดำเนินการพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วย รวมถึงการอำนวยการอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะหารือความร่วมมือในการกำหนดพื้นที่การส่งต่อและรับกลับผู้ป่วย พัฒนาความร่วมมือทางวิชาการทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย และสภากาชาดไทย เพื่อสร้างเครือข่ายในการให้บริการสาธารณสุข ทำให้ประชาชนอุ่นใจได้ว่าแม้จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด แต่หากจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์เชี่ยวชาญ ก็จะมีบริการรับและส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานบริการที่มีศักยภาพสูงกว่า ซึ่งถือว่าเป็น “เครือข่ายบริการที่ไร้รอยต่อ”