ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

มหาวิทยาลัยรังสิต นำร่องโรงงานต้นแบบผลิตยาสมุนไพรครบวงจร หวังยกระดับตำรับยาสมุนไพรไทยได้มาตรฐานจีเอ็มพี จับมือมหาวิทยาลัยเฮลองเจียง ประเทศจีน เดินเครื่องวิจัยสมุนไพรแก้ 5 โรคยอดฮิตเบาหวาน ความดัน เกาต์ สะเก็ดเงิน และโรคนอนไม่หลับ

นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า รังสิตนับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ผลักดันโรงงานผลิตยาสมุนไพรต้นแบบได้สำเร็จ ภายใต้การดำเนินงานของภาคการศึกษา ด้วยงบประมาณเพียง 2 ล้านบาท พร้อมทั้งจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย-จีนจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยทางการแพทย์เฮลองเจียง ประเทศจีน

ความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของยาจากสมุนไพรไทยและจีนร่วมกัน นำมาสู่ความร่วมมือในการก่อตั้งโรงงาน ซัน เฮิร์บไทย ไชนิส แมนูเฟคเจอริ่ง หรือโรงงานต้นแบบผลิตยาสมุนไพรไทย-จีน บนพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเดิมเป็นอาคารห้องปฏิบัติการปรุงยา ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554

เป้าหมายของโรงงานต้นแบบนี้ คือให้บริการผลิตยาสมุนไพรที่ต้องการมาตรฐานจีเอ็มพี ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ต้องการผลิตยาสมุนไพร ตลอดจนใช้เป็นแหล่งบ่มเพาะประสบการณ์ให้กับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ก่อนออกไปทำงานจริง

ศ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า โรงงานต้นแบบสมุนไพรไทย-จีน พร้อมให้บริการผลิตยาสมุนไพร 6 รายการ จากบัญชียาหลัก ของกระทรวงสาธารณสุข 27 ตำรับ ในรูปแบบยาผง ยาเม็ด แคปซูล ยาน้ำ ทิงเจอร์ และยาลูกกลอน โดยพร้อมให้บริการวัตถุดิบสมุนไพรจากประเทศไทย จีน และตะวันออกกลาง ที่ให้ฤทธิ์ทางยาตามเกณฑ์มาตรฐานหวังผลิตยาขั้นต่ำ3หมื่นต่อเม็ด

โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานขนาดกลางถึงขนาดเล็ก กำลังการผลิตยาเม็ด ขั้นต่ำอยู่ที่ 3 หมื่นเม็ดต่อวัน ขณะที่ยาแคปซูลอยู่ที่ 1.5-2 หมื่นต่อวัน โดยนอกจากรับผลิตยาให้กับคนที่สนใจแล้ว ม.รังสิต ยังได้ร่วมวิจัยกับประเทศจีน เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพ และสรรพคุณของสมุนไพรทั้ง 27 ตำรับ โดยมีผลงานวิจัยรองรับ

โครงการวิจัยร่วมดังกล่าว มุ่งเป้าศึกษายาสมุนไพร 5 โรคหลักได้แก่ โรคเบาหวาน ความดัน เก้าต์ สะเก็ดเงิน และโรคนอนไม่หลับ หรือวิตกกังวลจากความเครียด โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี เพื่อพิสูจน์สรรพคุณที่ได้ รวมถึงทดสอบความปลอดภัย

"ตำรับยาแรกที่คืบหน้าจากความร่วมมือไทย-จีน คือตำรับยาหอมเทพจิต ที่เกิดจากส่วนผสมของสมุนไพรกว่า 40 ชนิด ซึ่งคล้ายกับสมุนไพรตำรับจีน ซึ่งมีผลวิจัยออกมาแล้วว่า ทำให้หนูว่ายน้ำได้นานขึ้น ขณะที่แมลงหวี่ตัวเมียนอนหลับได้ดี มีอายุยืนขึ้น หรือมีสรรพคุณเป็นยาคล้ายเครียด" ศ.ดร.กฤษณากล่าว และว่าสำหรับสิทธิบัตรที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยสมุนไพรชนิดใหม่จะเป็นสิทธิบัตรร่วมระหว่างไทยและจีน โดยทั้ง 2 ประเทศมีสิทธิในงานวิจัยเท่าๆ กันยาตัวแรกผลิตจากเห็ดหลินจือ

ยาตัวแรกที่จะผลิตโดยโรงงานยาต้นแบบ ได้แก่เห็ดหลินจือ โดยโครงการหลวง ต้นทุนแคปซูลละ 10 สตางค์ นอกจากนี้ยังมีความต้องการผลิตยาจากสมุนไพรอีก 4-5 แห่ง เช่นกวาวเครือขาว กวาวเครือแดง โดยที่สำคัญยาสมุนไพรที่จะผลิตในโรงงานนี้ตัองมีตำรับที่เชื่อถือได้โรงงานสมุนไพรดังกล่าวเป็นโรงงานยาสมุนไพรแห่งแรกที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการดำเนินการแบบนิติบุคคล เกิดขึ้นท่ามกลางโรงงานยาสมุนไพรทั่วประเทศ 500 แห่ง และยาแผนปัจจุบันอีก 200 แห่ง

"การผลักดันโรงงานผลิตยาสมุนไพรจะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมยาของประเทศได้ในอนาคต ซึ่งกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน จะช่วยยกระดับคุณภาพของยาสมุนไพรไทยให้สามารถจำหน่ายได้ในตลาดโลก" ศ.ดร.กฤษณากล่าว และทิ้งท้ายว่า ในอนาคตอยากเห็นยารักษาโรคมะเร็งที่มาจากส่วนผสมของสมุนไพร มีราคาถูก ตลอดจนการต่อยอดวัตถุดิบที่มีไปสู่การใช้ประโยชน์ เช่น น้ำมันรำข้าว รวมถึงสมุนไพรของไทยมีศักยภาพอีก หลายชนิด เช่น สมุนไพรจากภาคใต้ กว่า 37 รายการ ที่มีฤทธิ์เป็นยา อาทิเช่น ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร พญายอ กระชาย บอระเพ็ด ปลาไหลเผือก"

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2555