ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  เปิดเผย รายงานจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา  เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่พบว่า  การขึ้นภาษีบุหรี่ของรัฐบาลกลางซองละ 0.62  ดอลลาร์หรือประมาณ 19 บาทต่อซอง  เมื่อปี พ.ศ.2552 ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ในเด็กอายุ 13-18 ปี ลดลง 9.7%  ในการสำรวจประจำปีทั่วประเทศที่ทำสองเดือนหลังจากที่มีการขึ้นภาษี ในขณะที่รายได้จากภาษีบุหรี่ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาเพิ่มจาก 7.1  พันล้านดอลลาร์  ช่วง 12 เดือนก่อนการขึ้นภาษีเป็น 17.1 พันล้านดอลลาร์ 12 เดือนหลังจากการขึ้นภาษีหรือเพิ่มขึ้น 147%

 รายงานสรุปว่าการขึ้นภาษีส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพ โดยการป้องกันเด็กให้ติดบุหรี่น้อยลง ขณะเดียวกันการขึ้นภาษีก็ทำให้รัฐบาลอเมริกามีรายได้จากภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวว่ารายงานดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอของธนาคารโลก  ที่ให้ทุกประเทศขึ้นภาษีบุหรี่เพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ ติดบุหรี่  เนื่องจากเด็กที่เริ่มติดบุหรี่ใหม่ ๆ การเสพติดบุหรี่ยังไม่รุนแรง  และเด็ก ๆ ยังไม่มีรายได้ที่เป็นของตัวเอง  เวลาบุหรี่แพงขึ้นจึงไม่มีกำลังซื้อ ทำให้ต้องเลิกสูบ  และยังมีผลพลอยได้ที่ทำให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นด้วย  แต่กรณีประเทศไทย  ผลกระทบจากการขึ้นภาษีที่จะทำให้เด็ก ๆ สูบบุหรี่น้อยลง จะไม่เห็นผลเท่ากับกรณีอย่างเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว  เนื่องจากประเทศเหล่านั้นมีกฎหมายห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นมวน ๆ และประเทศเหล่านั้น  ยังไม่มีการสูบบุหรี่ยาเส้นมวนเองอย่างแพร่หลาย  ทำให้เวลาขึ้นภาษี  เด็กต้องซื้อบุหรี่ทั้งซองที่แพงขึ้น  ทำให้เด็กเข้าถึงบุหรี่ได้น้อยลง  และไม่สามารถหันไปซื้อยาเส้นสูบ  ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสถานการณ์ในเมืองไทย ที่การสำรวจล่าสุดพบว่าเด็กอายุ 15-17 ปี ร้อยละ 88  ซื้อบุหรี่ที่แบ่งขายเป็นมวน ๆ นอกจากนี้การสำรวจยังพบว่าประมาณหนึ่งในสี่ของเด็กวัยนี้สูบบุหรี่ยาเส้น  ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของกรมสรรพสามิตแต่ละครั้งเลย  และถึงแม้การขึ้นภาษีครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา  จะมีการขึ้นภาษียาเส้นด้วย  แต่ภาษียาเส้นที่ขึ้นก็เพียงทำให้ราคาขายปลีกยาเส้นเพิ่มจากซองละห้าบาทเป็นซองละหกบาทเท่านั้น  ซึ่งนับว่าราคาบุหรี่ยาเส้นยังถูกมาก  และเนื่องจากภาษีและราคาบุหรี่เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการริเริ่มการสูบบุหรี่  ซึ่งก็คือเด็กวัยรุ่น  ประเทศไทยจึงมีหนทางอีกยาวไกลในการที่จะลดจำนวนผู้สูบหน้าใหม่  ถ้ารัฐบาลยังไม่ได้แก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้