ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"ต้องยอมรับว่าการจะบรรจุทุกคนให้เป็นข้าราชการในเวลาเดียวกันคงไม่ได้ แต่ระหว่างรอหากมีรูปแบบอื่นที่ดีกว่าลูกจ้างชั่วคราว ย่อมดีกว่าไม่ทำอะไรเลย..."

ถ้อยคำของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวไว้ ระหว่างหารือ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยจะเปลี่ยนสถานภาพจากลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (ก.สธ.) แทน

สาเหตุที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน เพราะปัจจุบันลูกจ้างชั่วคราวในกระทรวงมีจำนวนมาก ตัวเลขรอบรรจุตั้งแต่ปี 2549 มีกว่า 30,000 คนในทุกสาขาวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร ฯลฯ แต่ตัวเลขที่เห็นตรงกันในเบื้องต้น ทั้งของ สธ. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะดำเนินการก่อนคือ 11,000 ตำแหน่ง  โดยจะบรรจุเป็นข้าราชการได้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2556 เพียง 4,000 ตำแหน่ง ส่วนอีก 3,000 ตำแหน่งต้องรอข้าราชการอีกกลุ่มเกษียณ ที่เหลือจำเป็นต้องรอโดยการปรับสถานภาพเป็นพนักงาน ก.สธ. ซึ่งมีความมั่นคง และสวัสดิการไม่แตกต่างจากข้าราชการ

ปัญหาคือ สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว สธ. ยังยืนกรานขอให้บรรจุพยาบาล ซึ่งปัจจุบันเป็นลูกจ้างชั่วคราว 17,000 คนเป็นข้าราชการทั้งหมด เนื่องจากจำนวน 4,000 ตำแหน่งที่รอบรรจุเป็นข้าราชการในปี 2556 นั้น ไม่ได้แค่วิชาชีพพยาบาล แต่รวมทุกสาขาวิชา ส่วนรูปแบบพนักงาน ก.สธ.นั้น น.ส.ศิริรัตน์ วงษ์บุดดา เลขานุการเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวสธ. บอกว่า เป็นเรื่องระยะยาว ที่ต้องหารือกันอย่างละเอียด เพราะที่ผ่านมาไม่ทราบเรื่อง ทั้งที่ควรระดมความเห็นกันทุกฝ่าย โดยเฉพาะสหวิชาชีพต่างๆ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่เคยเห็นร่างระเบียบการปรับเปลี่ยนสถานภาพนี้เลย จึงไม่มั่นใจว่าการปรับเปลี่ยนจะดีกว่าสถานภาพเดิมอย่างไร

เกี่ยวกับเรื่องนี้แม้ สธ.จะรับปากว่าจะเรียกทุกฝ่ายเข้าหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติ แต่ดูเหมือนทางเครือข่ายพยาบาลฯ ต่างๆ จะยืนกรานขอบรรจุเป็นข้าราชการ เหตุเพราะยังไม่เห็นรายละเอียดของร่างระเบียบ และในวันที่ 22 พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับงานประชุมพยาบาลแปซิฟิกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และมีพยาบาลจาก 12 ประเทศเข้าร่วมประชุม โดยจะนำเรื่องที่ลูกจ้างชั่วคราวไม่ได้รับการบรรจุเป็นพยาบาลไปเป็นหัวข้อในการเสวนา เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ด้วย

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดสธ. ผู้รับหน้าที่ดูแลปัญหาดังกล่าว ย้ำว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูล และจะเรียกสหวิชาชีพต่างๆ เข้าหารือเพื่อระดมความเห็นร่วมกันว่า จะเดินหน้าปรับเปลี่ยนรูปแบบสถานภาพอย่างไร และสิทธิสวัสดิการต่างๆ เห็นเหมือนกันหรือไม่ หรือต้องการอะไรเพิ่มเติม หากเป็นไปได้ย่อมไม่มีปัญหา ซึ่งจริงๆ แล้วพนักงาน ก.สธ.ไม่ใช่ของใหม่ เนื่องจากปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่ดำเนินการลักษณะนี้แล้ว เห็นได้ชัด "โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน)" โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ศึกษาจากการประเมินผล 10 ปีของการทำงาน พบว่ารูปแบบสถานพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวแตกต่างจากที่อื่น เพราะแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกคน มีรูปแบบเดียวกัน เรียกว่า พนักงาน รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน)  จำนวนบุคลากร รพ. ตั้งแต่ปี 2551-2553 มีบุคลากรทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด ฯลฯ ทั้งหมดรวม 2,286 คน เป็นพยาบาลวิชาชีพ 451 คน

ส่วนอัตราเงินเดือนปี 2553 แพทย์ ทันตแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญสาขา จะมีค่าตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่ 13,650-60,000 บาท ค่าวิชาชีพ 5,000 บาท ค่าไม่ทำเวชปฏิบัตินอก รพ.อีก 10,000 บาท ส่วนแพทย์ ทันตแพทย์ทั่วไป มีค่าตอบแทนเฉลี่ย 10,500-50,000 บาท ค่าวิชาชีพ 5,000 บาท ค่าไม่ทำเวชปฏิบัตินอก รพ. 10,000 บาท เภสัชกร ค่าตอบแทนเฉลี่ย 9,450-45,000 บาท ค่าวิชาชีพ 2,000 บาท ส่วนพยาบาลวิชาชีพค่าตอบแทน 7,875-40,000 บาท ค่าวิชาชีพ 2,000-3,500 บาท ส่วนผู้ช่วยพยาบาล มีค่าตอบแทนเฉลี่ย 6,500-28,000 บาท โดยใครจะได้ค่าตอบแทนมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่การทำงานล่วงเวลา

อัตราเงินเดือนดังกล่าวยังปรับตามฐานเงินเดือนของรัฐบาล คือ 15,000 บาท อย่าง พยาบาล หากมีประสบการณ์ก็บวกอีก 1,000-2,000 บาท ค่าเวรเฉลี่ย 700 บาท ยังมีระบบประเมินขึ้นเงินเดือน เป็นเกรด A, B และ C ขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ ประเมินดูที่ความสามารถ ไม่ดูที่อายุงาน ทั้งนี้ ทำการประเมินโดยคณะกรรมการ คือ ผู้จัดการแผนก ผู้บริหาร และเสนอบอร์ดพิจารณา ทำให้มีโอกาสความก้าวหน้าทั้งสายงานวิชาชีพ และบริหาร ซึ่งมีโอกาสเป็นหัวหน้างาน หรือผู้จัดการแผนก

นอกจากความมั่นคงในสายงานแล้ว ที่สำคัญสิทธิสวัสดิการยังเทียบเท่าข้าราชการ สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลให้สมาชิกในครอบครัว มีสิทธิ เบิกค่าบำรุงการศึกษาบุตร สิทธิในการลาพักร้อน 20 วัน ลากิจ ลาป่วย 45 วัน สิทธิในการลาศึกษาต่อ อย่างพยาบาลลางาน 1 ปี สามารถลาศึกษาต่อได้แบบได้รับเงินเดือน ขึ้นอยู่กับสาขาที่ไปศึกษาต่อและหัวหน้างานพิจารณา ยังมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เช่นเดียวกับบริษัทเอกชน โดย รพ.สมทบให้ร้อยละ 50 นอกจากนี้ ยังมีสหกรณ์ออมทรัพย์ หอพัก คูปองอาหาร บริการรถรับส่ง เป็นต้น

สวรส.ได้ประเมินและพบว่า แนวคิดการบริหารมีระบบการบริหารที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถแสดงความสามารถ มีระบบสร้างแรงจูงใจ โดยมีเงินเดือนเป็นการันตีขั้นต่ำ และยังมีสิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่สำคัญเน้นการทำงานล่วงเวลา หรือโอที จะเห็นได้ว่าเงินเดือนส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่ค่าโอที ทำมากได้มากนั่นเอง

นี่เป็นเพียงตัวอย่างในการปรับเปลี่ยนสถานภาพจากลูกจ้างชั่วคราว เป็นพนักงาน ก.สธ. ซึ่ง นพ.สุพรรณบอกว่า ระเบียบการปรับเปลี่ยนสถานภาพดังกล่าว จะออกเป็นระเบียบ สธ. ที่กระทรวงการคลังเห็นชอบให้เป็นระเบียบเงินบำรุง เบื้องต้นเตรียมของบฯปีละ 1,700 ล้านบาท โดยใช้งบกลางเป็นหลัก และให้เข้าไปอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวส่งตรงไปยังหน่วยบริการ เพื่อไปจ้างเป็นพนักงาน ก.สธ. ซึ่งหากได้ข้อตกลงในการเดินหน้าเรื่องนี้ภายในเดือนพฤศจิกายน คาดว่าจะเดินหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่รัฐมนตรี สธ.มอบไว้พอดี

เบื้องต้นสิทธิสวัสดิการของพนักงาน ก.สธ. จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มวิชาชีพ อาทิ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เป็นต้น 2.กลุ่มสนับสนุน อาทิ เจ้าหน้าที่ธุรการ พนักงานบัญชี ฯลฯ และ 3.สายผู้เชี่ยวชาญ อาทิ สถาปนิก วิศวกร ฯลฯ โดยจะกำหนดกติกา คือ จะมีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ 1.2 เท่า ส่วนสิทธิประโยชน์จะมีทั้งลาป่วย ลากิจเหมือนข้าราชการ ส่วนสิทธิรักษาพยาบาลจะใช้สิทธิประกันสังคม ที่มีไตรภาคี 3 ฝ่าย คล้ายคณะกรรมการประกันสังคม คือ มีนายจ้าง คือ รพ. มีภาครัฐ คือ สธ. และมีลูกจ้าง คือ พนักงาน ก.สธ.นั่นเอง สำหรับเงินชดเชย พวกเงินบำเหน็จบำนาญ จะมีการหักเงินเดือนร้อยละ 3-5 โดยทาง รพ.จะเพิ่มให้อีกเท่าตัว

เป็นอีกเรื่องที่ท้าทายรัฐมนตรี สธ. ชิ้นสำคัญทีเดียว...

ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 10 พ.ย. 2555