ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : การแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลสถานพยาบาลเอกชนสูงเกินจริงดูจะไม่จบลงง่ายๆ เพราะแนวทางการควบคุมมีหลายหน่วยงานที่สำคัญแต่ละแห่งมีค่ารักษาที่แตกต่างกัน ไม่ใช่เฉพาะค่ายาเท่านั้นแต่ยังมีหมวดอื่นๆ ปลีกย่อยอีก

ไม่ว่าจะเป็น 1.หมวดค่ายาและเวชภัณฑ์ 2.หมวดค่าธรรมเนียมบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งหมายถึงทุกวิชาชีพทางการแพทย์ทั้งหมด และ 3.ค่าบริการอื่นๆ อย่างค่าห้องพิเศษ ฯลฯ นอกนั้นยังมีค่าอื่นๆ ที่ถูกบวกเพิ่มจากต้นทุนของโรงพยาบาลเอกชนที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นทัศนียภาพอันสวยงาม สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา ไม่มีใครรู้ต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแต่ละครั้งและแต่ละกลุ่มโรคแตกต่างและสูงกว่าภาครัฐมหาศาล

จากผลการศึกษาของ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานอนุกรรมาธิการศึกษามาตรฐานค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล ในคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้ศึกษาและเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน รวม 9 แห่ง คือ รพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีทั้งระดับ 5 ดาว ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โรงพยาบาลเอกชนบริเวณหัวเมือง และโรงพยาบาลเอกชนที่มีมูลนิธิสนับสนุน ศึกษาค่าใช้จ่ายในกลุ่มโรคที่มีความฉุกเฉิน ได้แก่ โรคหัวใจวายเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดหัวใจ กลุ่มโรคที่ต้องได้รับการรักษาทันทีและทันสมัย เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ และโรคพื้นฐานในกลุ่มผู้ป่วยนอก คือ ไข้หวัดธรรมดา โดยทั้งหมดยังไม่แล้วเสร็จ แต่ที่พบชัดเจนคือ โรคไข้หวัดมีราคาค่ารักษาสูงถึง 6 เท่า ในโรงพยาบาลรัฐคิดค่ารักษาเพียง 500-800 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนพุ่งเป็น 2,000-3,000 บาท

จากค่ารักษาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการเรียกร้อง และนำมาสู่ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำโดย นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ.ออกโรงหารือร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีข้อสรุปว่า ในส่วนของ สธ. จะใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่เดิม คือ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่มีหน้าที่ดูแลโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกเอกชนต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมามีอำนาจเพียงระบุให้แจ้งอัตราค่าบริการ และมีโทษต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการควบคุมราคายานั้น จำเป็นต้องอาศัยอำนาจ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ของกระทรวงพาณิชย์ ว่าจะมีการควบคุมได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนปัญหาที่มีข้อกังวลว่าแพทย์มีการสั่งยามากจนเกินไปนั้น ตามระเบียบแพทยสภาจะตรวจสอบได้ก็ต่อเมื่อมีข้อร้องเรียนเข้ามา

เรื่องนี้ นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ มองว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้ แยกส่วนกันเกินไป จึงทำให้การใช้อำนาจไม่มีความเข้มแข็งพอ ทำให้ควบคุมค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนยาก อย่างไรก็ตาม ยิ่งกรณีแพทย์วินิจฉัยโรคและให้ยามากจนเกินความจำเป็น หรือมีการสั่งตรวจเอกซเรย์มากเกินไปนั้น ก็ไม่มีใครดำเนินการตรวจสอบ เพราะหากจะหวังพึ่งแพทยสภา ที่ผ่านมา ชัดเจนว่าไปร้องเรียนโรงพยาบาลเอกชนเมื่อใด ประชาชนไม่เคยได้รับความเป็นธรรมเลย เนื่องจากกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบันเป็นชุดเดิมๆ ที่ครองอำนาจมานาน สิ่งสำคัญแม้ สธ. และกระทรวงพาณิชย์จะร่วมกันเดินหน้าแก้ปัญหาด้วยการออกมาตรการต่างๆ แต่ที่อยากเรียกร้องคือ ควรมีคณะกรรมการกลางมาควบคุมราคาในโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะ ซึ่งกรรมการที่จะมาดำเนินการนั้น ขอให้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ หากเป็นไปได้ต้องไม่อยู่ในแวดวงสาธารณสุขจะดีที่สุด

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่า การคุมค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน จะต้องคำนึงอย่างถี่ถ้วน เพราะโรงพยาบาลเหล่านี้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่าภาครัฐ ซึ่งก็ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย แต่ในส่วนของเอกชนที่ค้ากำไรเกินควรตรงนี้ต้องดำเนินการ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ โรงพยาบาลเอกชนมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลรัฐทุกสังกัด ซึ่งปัจจุบันก็รองรับผู้ป่วยมหาศาล ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดในระยะยาวควรร่วมกันทำงานระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ที่มีการบริการที่ดี แต่ในเรื่องการวิจัยพัฒนาต่างๆ ยังไม่มาก ซึ่งเรื่องนี้ โรงเรียนแพทย์พร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้เอกชนมีมาตรฐานการรักษา และเกิดความร่วมมือในการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เพราะอย่าลืมว่าการซื้อเครื่องมือทางการแพทย์แต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายมหาศาล แต่หากเกิดความร่วมมือ นอกจากจะทำให้สะดวกสบายในการรับบริการแล้ว ยังประหยัดงบรัฐบาลด้วย

"ประเด็นการพัฒนาโรงพยาบาลรัฐนั้น เป็นสิ่งต้องดำเนินการ แต่การจะยกระดับให้เทียบเท่าเอกชนนั้น โดยเฉพาะการบริการ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ค่อนข้างยาก ต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะโรงพยาบาลสังกัด สธ. เนื่องจากต้องพึ่งพางบประมาณของรัฐบาลเป็นหลัก เรื่องนี้จึงอยู่ที่รัฐบาลในการจัดสรรงบ หากได้เพิ่มก็อาจจะช่วยพัฒนาได้มากขึ้น"ศ.คลินิก นพ.อุดมกล่าว

นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นด้วยหากจะมีการควบคุมค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชน แต่ต้องมีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะต้นทุนแตกต่างจากภาครัฐ ซึ่งในส่วนของการค้ากำไรเกินไปก็ต้องหาทางดำเนินการ แต่ในส่วนของโรงพยาบาลรัฐ ก็ต้องพัฒนาและยกระดับการบริการให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในฐานะที่เป็นแพทย์คนหนึ่งเข้าใจระบบดี สิ่งสำคัญคือ งบประมาณไม่เพียงพอ เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่ได้รับงบจากรัฐบาล หากมีการเพิ่มงบ ก็น่าจะช่วยในเรื่องการพัฒนาด้านต่างๆ ได้

เห็นได้ว่า การคุมค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน ทำได้ระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญ โรงพยาบาลรัฐต้องพัฒนาตัวเองและหาแนวทางแก้ปัญหาความแออัดในการรอคิวรักษา รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพการบริการ เพราะคนไข้หากไม่เจ็บป่วยจริงๆ คงไม่มีใครอยากมานั่งรอหมอเป็นวันๆ เป็นแน่

เป็นอีกความท้าทาย "รัฐมนตรีว่าการ สธ." บรรเทาปัญหาได้ เป็นผลงานชิ้นโบแดง...

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : warunee11@yahoo.com

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 16 พฤษภาคม 2558