ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับวันปัญหาภายในแวดวงสาธารณสุขจะยิ่งคุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ เพราะความไม่เข้าใจกันระหว่าง "กระทรวงสาธารณสุข" (สธ.) กับ "สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" (สปสช.) ที่บริหารจัดการงบประมาณในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ลงตัว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องบทบาทหน้าที่ของทั้ง 2 หน่วยงาน ที่แยกไม่ออกระหว่าง "ผู้ซื้อบริการ"คือ สปสช. และ "ผู้ให้บริการ" คือ โรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัด สธ. จนล่าสุดมีความพยายามที่จะทำให้ชัดเจนขึ้นด้วยการออกหนังสือคำสั่งยกเลิกการให้ "นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด" (นพ.สสจ.) ทำหน้าที่เป็น "ผู้อำนวยการ สปสช.สาขาจังหวัด" ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เนื่องจากก่อนหน้านั้นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ท้วงติงว่าหากไม่แยกบทบาทให้ชัดเจน จะเท่ากับเป็นการทำหน้าที่ซ้ำซ้อนระหว่าง ผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการ

คำสั่งนี้ ทำให้ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 สำนักปลัด สธ.ได้ยื่นคำขาดขอให้ สปสช.ทำหน้าที่นายทะเบียนและหน่วยรับลงทะเบียนสิทธิบัตรทอง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นต้นไป

ประเด็นร้อนนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่จะไปขึ้นทะเบียนและแจ้งย้ายสิทธิบัตรทอง

แต่ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. ยืนยันว่าไม่กระทบ เพราะการขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิบัตรทอง เป็นสิทธิอัตโนมัติของคนไทยทุกคนอยู่แล้ว และปกติเมื่อมีเด็กแรกเกิดโรงพยาบาลทุกแห่งก็จะแจ้งเกิดเพื่อให้เกิดสิทธิขึ้น แต่การขึ้นทะเบียน เก็บข้อมูล การรับแจ้งย้ายสิทธิเป็นหน้าที่ สปสช. และที่ผ่านมา สธ.ก็ช่วยเหลือมาตลอด แม้มติบอร์ดจะยกเลิกการทำหน้าที่ของ นพ.สสจ.ไปแล้วก็ตาม

กรณีดังกล่าวถูกเชื่อมโยงว่า สธ.กำลังกดดัน สปสช.ทางอ้อม เพื่อต้องการให้ปรับวิธีการจัดสรรเงินแบบใหม่ คือ จัดสรรเงินผ่านเขตสุขภาพ กระจายเงินตามความจำเป็นจริง ไม่เน้นสัดส่วนประชากรเหมือน สปสช.ที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้ชมรมแพทย์ชนบทได้โพสต์ข้อความในเฟชบุ๊กว่า กรณีดังกล่าวแน่นอนว่ามี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.อยู่เบื้องหลัง จึงสมเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีควรย้าย นพ.ณรงค์พ้นตำแหน่งปลัด สธ. คืนความสุขให้กับบุคลากรใน สธ.

แต่สิ่งที่ต้องจับตามองนับจากนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะหรือพ่ายแพ้

นพ.พรเจริญ เจียมบุญศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ จ.อุบลราชธานี ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง 2 ฝ่ายไม่ควรทะเลาะกัน โรงพยาบาลขาดทุนก็เพราะรายรับน้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งเป็นปัญหาที่ทั้ง สธ.และ สปสช.ต้องร่วมกันแก้ปัญหา หาทางว่าจะทำอย่างไรให้งบประมาณเพียงพอ โดยควรมาช่วยกันเสนอของบเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้น เพราะสำนักงบประมาณยินดีจัดสรรงบเพิ่มเติม หากทั้ง สธ.และ สปสช.เลิกขัดแย้งกัน

นอกจากนี้ทางด้านบุคลากร สธ.ส่วนใหญ่ก็เริ่มเบื่อหน่ายกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และอยากให้ผู้บริหาร สธ.หันมาสนใจทิศทางของระบบสาธารณสุขในภาพรวมมากขึ้น เนื่องจากพบว่าขณะนี้เริ่มมีการขับเคลื่อนกฎหมายใหม่ 3 ฉบับที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขในภาพรวม เริ่มจาก

1.การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ พ.ศ.... ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะปรับโฉมสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้กลายเป็น "สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ" เพื่อทำหน้าที่สร้างระบบและกลไกอภิบาลระบบวิจัยสุขภาพ โดยมีกองทุนเฉพาะขึ้นใช้งบเบื้องต้นกว่า 1 พันล้านบาท และเพิ่มขึ้นจนเป็น 3-4 พันล้านบาทต่อปี จากเม็ดเงินของ สธ.และ สปสช.

2.ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานมาตรฐานและการจัดการสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ.... สืบเนื่องมาจากนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาทุกโรงพยาบาลไม่ถามสิทธิ ซึ่งปัจจุบัน สปสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการทำธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุข หรือเคลียริ่งเฮาส์ (Clearing House) โดยสำรองจ่ายก่อน และเรียกเก็บเงิน 2 กองทุนที่เหลือ คือ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยที่ผ่านมาได้เสนอต่อคณะกรรมการประสานงานกองทุนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมี ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน ในการพิจารณาเรื่องนี้ พร้อมทั้งผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเพื่อให้มีการจัดตั้งเป็นสำนักงานอิสระแยกตัวจาก สปสช.โดยหวังให้ทำงานคล่องตัวมากขึ้น ที่สำคัญยังสามารถตั้งสำนักงานสาขาในแต่ละจังหวัด คล้ายๆ กับ สปสช.สาขาจังหวัดที่กำลังเป็นประเด็นในขณะนี้

3.สปสช.ศึกษาแนวทางในการตั้ง "องค์กรกลาง"เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของสามกองทุนหลักประกันสุขภาพภาครัฐให้เท่าเทียมกันทั้งหมด ซึ่งได้เสนอต่อคณะกรรมการประสานงานกองทุนชุด ศ.อัมมาร ทั้งนี้ สปสช.อยู่ระหว่างร่างรายละเอียดการทำงานขององค์กรกลาง และร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้มีกฎหมายรองรับ คาดว่าจะเห็นรายละเอียดไม่เกินเดือนเมษายนนี้ โดยนำต้นแบบมาจากกองทุน National Institute for Health and Disability Insurance (NIHDI) ในประเทศเบลเยียมทำหน้าที่กำหนดสิทธิประโยชน์กลางให้แต่ละกองทุน เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนเหมือนกันหมด ซึ่งจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนได้

เรื่องนี้ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. บอกว่า แม้จะเห็นด้วยกับการตั้งสำนักงานวิจัยฯ แทน สวรส. ซึ่งจะทำงานระดับประเทศมากขึ้น แต่กลับมองในเรื่องของการตั้งองค์กรกลาง เพื่อเป็นหน่วยงานในการกำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อประชาชนทั้ง 3 กองทุนอย่างเท่าเทียม ว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีการทำงานลักษณะนี้ แต่มองว่าไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นองค์กรใหม่ โดยมีกฎหมายมารองรับ เนื่องจากใช้งบประมาณสิ้นเปลือง เพราะการกำหนดสิทธิประโยชน์ระหว่าง 3 กองทุนให้สิทธิพื้นฐานเท่าเทียมกันนั้น ทำในรูปแบบคณะกรรมการก็สามารถดำเนินงานได้ สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการหารือและร่วมมือกันทั้ง 3 กองทุนอย่างแท้จริง

ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่เลิกขัดแย้งกัน คงมีอีกหลายองค์กรผุดขึ้นมาอีกราวกับดอกเห็ด !

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : warunee11@yahoo.com

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 31 มกราคม 2558