ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"ในอดีตไทยได้รับการยกย่องจากประเทศต่าง ๆ ว่า เป็นผู้นำด้านการควบคุมยาสูบประเทศหนึ่ง จนมีคำกล่าวถึงไทยว่า Thailand is again a world leader in tobacco control แต่ปัจจุบันหลังจากกรอบอนุสัญญามาตรา 5.3 มีมาแล้วกว่า 4 ปี แต่พบว่าไทยยังมีกฎระเบียบทางราชการออกมาบังคับใช้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มีเพียงระเบียบที่ใช้ภายในกรมที่รับผิดชอบการควบคุมยาสูบเท่านั้น ทำให้เกิดความอ่อนแอต่อการควบคุมการบริโภคยาสูบเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญและเร่งให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการตามมติ ครม." นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยและ ประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก (2550-51) กล่าวในงานแถลงข่าวกฎหมายบุหรี่โลกเป็นหมัน ไทยอ่อนแอและล้าหลัง"

นพ.หทัย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศสมาชิก องค์การอนามัยโลก ดำเนินมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก มาตรา 5.3 การกำหนดและบังคับใช้นโยบายสาธารณะว่าด้วยการควบคุมยาสูบ เพื่อให้ประเทศภาคีอนุสัญญาปกป้องการ แทรกแซงจากผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาสูบ ซึ่งในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 เมื่อเดือนธันวาคม 2553 ได้มีมติเห็นชอบ "มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพต้านยาสูบ" และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อลงความเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำตามแนวทางของกรอบอนุสัญญา

ด้าน ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการสำรวจความพึงพอใจเรื่อง มาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบของรัฐบาล โดยสำรวจจาก 38 องค์กรสุขภาพ หลังครบรอบ 6 เดือน ที่ ครม.มีมติเห็นชอบ มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพต้านยาสูบ พบว่า คะแนนรวมความพึงพอใจในการดำเนินนโยบายยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เฉลี่ย 3.3 จากเต็ม 10 คะแนน โดยกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายควบคุมยาสูบโดยตรงได้คะแนนความพอใจมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ดร.ศิริวรรณ กล่าวว่า มาตรการที่ได้ดำเนินการสำเร็จแล้วคือ การขึ้นภาษีตามปริมาณ ช่วยทำให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่น้อยลง, การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ และประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องแนวทางปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านการควบคุมยาสูบในสถานศึกษา ส่วนนโยบายที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จคือ กฎหมายควบคุมในการห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรมภายใต้นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ, การห้ามโฆษณายาสูบทางอินเทอร์เน็ต, การเพิ่มสิทธิหลักประกันการรักษาโรคติดบุหรี่, การบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมายและการปราบปรามการลักลอบบุหรี่เถื่อน เป็นต้น

ด้าน นายไพศาล ลิ้มสถิต นักวิชาการจากศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบมาตรการควบคุมยาสูบระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ พบว่ามาตรการของไทยในปัจจุบันยังไม่เพียงพอและไม่เป็นไปตามกรอบอนุสัญญาฯ มาตรา 5.3 โดยเฉพาะการออกกฎหมายเพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายจากอุตสาหกรรมยาสูบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการทำธุรกิจ และการป้องกันการโฆษณา การทำการตลาดทางตรงและ ทางอ้อม

"ตัวอย่างความสำเร็จของต่างประเทศ เช่น แคนาดา ออกกฎหมายให้อุตสาหกรรมยาสูบ ต้องรายงานและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน เช่น ปริมาณการผลิต ยอดจำหน่ายยาสูบจำแนกตามประเภทและยี่ห้อ ประเทศฟิลิปปินส์ร่วมกับ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนออกระเบียบปฏิบัติ ป้องกันการติดต่อระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และประเทศเคนยา มีกฎหมายกำหนดคุณสมบัติป้องกันคณะกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติที่มีส่วนได้เสียกับอุตสาหกรรมยาสูบต้องเปิดเผยข้อมูลของผู้ประกอบการ, ห้ามการจัดกิจกรรมโฆษณา ส่งเสริมการขาย ไม่ให้เกี่ยวข้องกับโครงการด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การสันทนาการ การศึกษา เป็นต้น" นายไพศาล กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2555