ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่โรงแรมเอเชีย ในการประชุม 2012 A-BAN Strategy Meeting  หรือ การประชุมของกลุ่มรณรงค์ยกเลิกการใช้แร่ใยหินแห่งเอเชีย(A-BAN )ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วม 13 ประเทศ น.ส.ลอรี่ คาซาน ออลแลน เลขาธิการไอแบส (IBAS) กล่าวว่า เป็นที่ทราบว่าในประเทศต่างๆ มี นโยบายในการยกเลิกการใช้แร่ใยหินอย่างชัดเจน และมีการรณรงค์อย่างจริงจัง เพื่อยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ซึ่งมีการพิจารณาคดีในประเทศบราซิล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินด้วย เช่นเดียวกับการประชุมว่าด้วยการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย ก็เป็นการรวมตัวของภาคประชาสังคม และนำไปสู่การออกประกาศกรุงเทพฯ ว่าด้วยการยกเลิกการใช้แร่ใยหินของเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งเอเชีย เพื่อให้เกิดนโยบายหนึ่งประเทศในเอเชียยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกประเทศก็ต้องเลิกใช้แร่ใยหิน

ด้านนพ.อดุลย์ บัณฑุกุล เลขาธิการสมาพันธ์อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน(A-BAN) และหัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ ร.พ.นพรัตน์ กล่าวว่า สถานการณ์แร่ใยหินในทั่วโลก พบว่า ประเทศที่มีการส่งออกแร่ใยหินนั้น รัฐบาลเลิกให้การสนับสนุนการทำแร่ใยหินของภาคเอกชนและยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศ ส่วนประเทศในแถบเอเชีย พบว่า ประเทศที่ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน คือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยล่าสุด ฮ่องกง และอิหร่าน เพิ่งออกกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดการใช้แร่ใยหิน และตรวจพบผู้ป่วยจากแร่ใยหินถึง 60 กว่าราย เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซียที่พยายามกระตุ้นให้ประชาชน แรงงานรับทราบถึงอันตรายจากการใช้แร่ใยหิน ควบคู่ไปกับการวินิจฉัยโรค เพื่อทำให้รัฐบาลตระหนักถึงผลกระทบ เพราะพบว่า ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดนั้นมาจากแร่ใยหิน

"สำหรับประเทศไทย แม้จะมีมติครม.เพื่อให้เกิดการยกเลิกการใช้แร่ใยหินภายในปี 2555 แต่ปัจจุบันยังไม่พบมาตรการที่ชัดเจนของรัฐบาล ซึ่งเครือข่าย A-BAN ได้ติดตามและกระตุ้นให้แพทย์ค้นหาผู้ป่วยในทั่วประเทศ เพื่อยืนยันต่อรัฐว่า การใช้แร่ใยหินนั้นสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนมากเพียงใด โดยปัจจุบันมีรายงานผู้เสียชีวิตจากแร่ใยหินแล้ว 3 ราย และอีก 2 รายป่วย ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องปกป้องสุขภาพของประชาชน" นพ.อดุลย์ กล่าว

นพ.อดุลย์กล่าวว่าเนื่องจากประเทศไทยยังคงมีการนำเข้าแร่ใยหินเป็นปริมาณมากจนติดอันดับประเทศต้นๆ ของโลกที่มีการนำเข้าแร่ใยหิน ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินแอสเบสทอส เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องยาง ผนัง ฝากั้น ท่อซีเมนต์ ท่อระบายน้ำ ท่อระบายอากาศ เบรก และคลัตช์ โดยผู้ที่เสี่ยงจะได้รับแร่ใยหิน มีทั้งแรงงานที่สัมผัสกับการผลิตโดยตรงวัสดุเหล่านี้โดยตรง และจากรื้อถอนอาคารต่างๆ ซึ่งหากมีคนอยู่บริเวณดังกล่าวก็จะได้รับแร่ใยหินด้วยการสูดอากาศเข้าไป เพราะแร่ใยหินจะมีขนาดเล็กมากและสามารถฟุ้งกระจายในอากาศเป็นสาเหตุของมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด และมีผลต่อการเกิดมะเร็งกล่องเสียง และมะเร็งรังไข่ด้วย

--ข่าวสด ฉบับวันที่ 21 พ.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง