ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หลังจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลในภาคใต้ถูกประกาศเป็นพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ รวมถึงมีนายทุนรุกคืบเข้าไปก่อสร้างรีสอร์ต ทำให้กลุ่มชาวเล ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลในหลายจังหวัด เช่น กระบี่ ภูเก็ต พังงา สตูล และระนอง ประสบปัญหาหลายด้าน อาทิ ถูกไล่ที่จากภาคเอกชน ไม่สามารถออกเรือจับสัตว์น้ำในบริเวณอุทยานแห่งชาติฯ ทำให้ต้องออกเรือไปจับสัตว์บริเวณน้ำลึกแทนนั้น

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน น.ส.หทัยรัตน์ ตันติพิศาลพงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการงานเวชศาสตร์ใต้น้ำ โรงพยาบาล (รพ.) วชิระภูเก็ต เปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่ามีชาวเลป่วยเป็นโรคน้ำหนีบกันมากขึ้น โดยผู้ป่วยมาจากหลายพื้นที่ ได้แก่ สตูล พังงา กระบี่ ภูเก็ต   "อาการของโรคน้ำหนีบมี 2 แบบ คือ แบบทั่วไปและแบบรุนแรง แบบทั่วไปมีอาการปวดหลัง ตัวชา เดินไม่ได้ บางรายอาเจียน และหน้ามืด ส่วนอาการรุนแรงก็คือ ปัสสาวะไม่ออก ปวดกระดูกรุนแรง ทั้งตัว อาจพิการท่อนล่าง และเสียชีวิตได้ โดยจากการซักประวัติของผู้ป่วย ส่วนใหญ่มักจะดำน้ำลึก 30-50 เมตร ด้วยตัวเปล่าเพื่อหาสัตว์น้ำ และมีการดำน้ำต่อเนื่อง ขึ้นจากน้ำเร็วกว่าปกติ" น.ส.หทัยรัตน์กล่าว และว่า การรักษาอาการของผู้ป่วยน้ำหนีบคือ ต้องให้ออกซิเจนประมาณ 2-3 ครั้ง แต่กรณีที่รุนแรงก็อาจให้มากถึง 5 ครั้ง โดยผู้ป่วยต้องพักฟื้นและงดกิจกรรมดำน้ำนานถึง 1 เดือน ซึ่งชาวประมงที่ประสบปัญหามักจะปฏิบัติไม่ค่อยได้เพราะส่วนใหญ่กังวลเรื่องปากท้อง ทำให้มีอาการป่วยซ้ำ ดังนั้น ทีมแพทย์ในโรงพยาบาลจึงต้องประสานงานกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้ความรู้เรื่องการป้องกันตัวจากโรคน้ำหนีบ ซึ่งหลักการง่ายๆ คือ การขึ้นจากน้ำช้าๆ เพื่อดันฟองอากาศที่เป็นก๊าซไนโตรเจนออก เช่น ดำน้ำลึก 50 เมตร ต้องพักในระหว่าง 25 เมตร และพักอีกครั้ง 12.5 เมตร อีกครั้งหนึ่ง จึงค่อยๆ ขึ้นมาจากน้ำ

นายสนั่น หาดวารี ชาวเลหมู่บ้านแหลมตง หมู่เกาะพีพี กล่าวว่า 10 กว่าปีก่อน ชาวเลเคยหากินริมฝั่งได้อย่างสะดวกสบาย แต่พอความเจริญเข้ามา พื้นที่ทำกินกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ชาวเลต้องออกเรือไกลจากเดิมเกือบ 3 กิโลเมตร และต้องดำน้ำลึกกว่า 40-50 เมตร เพราะไม่มีอาชีพอื่นทดแทน จึงเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคน้ำหนีบจำนวนมาก

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง