ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อช่วงเดือนตุลาคม วงการแพทย์ไทยร้อนระอุ ชนิดนั่งเก้าอี้กันไม่ติด ทั้งอดีตเจ้ากระทรวงคุณหมอ วิทยา บุรณศิริ เลยมากระทั่งถึงเจ้ากระทรวงคนปัจจุบัน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เมื่อพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว (ตลอดชีวิต) กว่า 1.7 หมื่นชีวิตรวมพลังยื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กระทบถึงสถานภาพความมั่นคงด้านการเงิน สวัสดิการ หรือแม้แต่คุณภาพชีวิต

ศิริรัตน์ วงษ์บุดดา เลขานุการเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว วัย 25 ปี ชาวจังหวัดขอนแก่น และเพื่อนร่วมอาชีพ 2 คน เล่าด้วยอารมณ์โกรธ สีหน้าตึงเครียดว่า ตั้งแต่ปี 2549 นักศึกษาที่เรียนจบพยาบาลไม่มีใครได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการแม้แต่คนเดียว เธอจึงตั้งคำถามที่ต้องการคำตอบจาก สธ.ว่า หยิบยื่นความเป็นธรรมให้พวกเขาแล้วหรือยัง ทั้งๆ ที่ทุกคนต่างเรียนเหมือนกัน หลักสูตรเดียวกัน ใช้เวลาเหมือนกัน มีค่าความเป็นคนเท่ากัน แต่ถึงวันนี้คำตอบยังเลือนราง จึงขอลุกขึ้นยืนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเธอ และเพื่อนร่วมอาชีพอีกว่า 1.7 หมื่นคน

ล่าสุด เธอใช้เวทีการประชุมวิชาการนานาชาติ ICOWHI ครั้งที่ 19 จัดโดย มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับอาชีพที่เธอรักกว่า การประชุมครั้งนี้มีชาวต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 33 ประเทศ 270 คน ประเทศไทย 430 คน รวมทั้งสิ้น 700 คน จึงอยากใช้เวทีนี้ประกาศให้ต่างชาติรับรู้ว่าวิชาชีพพยาบาลของประเทศไทยไม่มีความเป็นธรรม

"เรียนมายากลำบาก ใช้เงินหมดไปก็เยอะ แต่ผลออกมาสธ.ไม่บรรจุราชการให้ สอบภาค ข. ก็ไม่มีสิทธิ์สอบ เงินเดือนที่ได้ก็ได้น้อย สวัสดิการก็ไม่ได้ แถมยังทำงานเท่ากันกับพยาบาลบรรจุราชการแล้ว หรืออาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำ อีกอย่างให้เราไปทำงานในตำแหน่งที่ควรจะเป็นคนอื่น เช่น การจ่ายยา วินิจฉัยโรค บัญชี เป็นต้น ถามว่าใช่หน้าที่เราไหม จึงไม่แปลกใจเลยที่พยาบาลที่มีอยู่น้อยนิด ถืออยู่ในขั้นขาดแคลนทำไมทยอยลาออก" ศิริรัตน์ กล่าว

ข้อมูลจากโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวนพยาบาลของประเทศไทยประมาณ 1 แสนคน สัดส่วนพยาบาล 1 คนต่อประชากร 600 คน และในจำนวนที่มีอยู่ก็ทยอยลาออก และผลวิจัยล่าสุดจาก ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านเพศภาวะและสุขภาพสตรีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่อง "คุณภาพชีวิตกับปัจจับที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิต และความคิดคงอยู่ในวิชาชีพของพยาบาล" โดย ศ.ดร.ศิริพร จิรวัฒน์กุล และคณะ เผยว่า ได้รับการสนับสนุนการทำวิจัยจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ครอบคลุม 5 ภาค ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันออก และใต้ จำนวน 518 คน (พยาบาลวิชาชีพ) อายุการทำงานระหว่าง 3-38 ปี

พบว่า คุณภาพชีพวิตกับความสุขในการทำงานเป็นเรื่องเดียวกัน และความสุขในการทำงานเป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิต ความสุขเกิดจากการช่วยผู้ป่วย และประชาชนเสมือนว่า "ได้ทำบุญทุกวันจากการให้พยาบาล" และอุดมการณ์คือสิ่งหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณให้เข้มแข็ง สามารถคงอยู่อาชีพได้แม้ว่าส่วนใหญ่ไม่มีความสุขในการทำงาน เนื่องจากมีภาระงานหนักโดยเฉพาะงานที่ไม่เกี่ยวกับบทบาทเชิงวิชาชีพ งานที่ไม่ใช่การพยาบาล การไม่ได้รับความเป็นธรรมและเท่าเทียมเรื่องค่าตอบแทน และสวัสดิการ ทั้งนี้พยาบาลวิชาชีพจำนวนมากที่ร่วมในการศึกษาครั้งนี้ก็มีความคิดย้ายงาน หรือลาออกหากมีทางเลือกที่ดีกว่า

ผลวิจัยเชิงปริมาณแบบการวิจัยเชิงบรรยาย เก็บข้อมูลแบบสอบถามมาตรฐานพยายาบ 3,219 คน (85% ส่งแบบสอบถามคืน)พบว่า คุณภาพชีวิตโดยทั่วไปไม่ใช่คำตอบของความคิดคงอยู่ในวิชาชีพ แต่ความสุขโดยเฉพาะความสุขในการทำงานเป็นปัจจัยสำคัญของความคิดคงอยู่ในวิชาชีพ แม้ว่าผลประเมินคุณภาพชีวิตของพยาบาลโดยรวมอยู่ในระดับดี ทั้งนี้ ประมาณ 3 ใน 4 ประเมินว่าคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับดี ยกเว้นด้านสัมพันธภาพทางสังคมที่พยาบาลมากกว่าครึ่งประเมินว่าตนเองมีคุณภาพชีวิตในระดับปานกลาง แต่ 2 ใน 3 ของพยาบาลประเมินว่าตนเองมีความสุขในระดับต่ำกว่าคนทั่วไป

"ผลวิจัยที่ออกมาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันเกือบทุกคนบอกว่าไม่มีความสุขเพราะไม่ได้ทำในหน้าที่ของตนเอง พยาบาลบางคนต้องทำตั้งแต่พื้นยันเพดาน ถามว่ามันใช่หน้าที่ของพยาบาลไหม ตรงนี้ต้องมาดูว่าโรงพยาบาลมีการจัดการแบบไหน จัดคนอย่างไร หรือถ้าจะให้ดีต้องรื้อตั้งแต่โครงการศึกษาทั้งหมดเลย หลักสูตร สถานศึกษา แต่เรื่องนี้ต้องพูดกันอีกยาว แต่วันนี้อยากให้พยาบาลทั้งหมดที่เผชิญอยู่ในภาวะแบบนี้ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ตัวเอง อย่าปล่อยให้โครงการ วัฒนธรรมดึงเราไว้" ศ.ดร.ศิริพร กล่าว

นอกจากนี้ ผลวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณพบว่า พยาบาลกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.6 เคยคิดออกจากวิชาชีพการพยาบาลในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้พยาบาลภาคตะวันออกคิดลาออกมากที่สุดร้อยละ 62.5 รองลงมาคือโรงพยาบาลเอกชนร้อยละ 55 พยาบาลภาคกลางร้อยละ 49.4 พยาบาลภาคเหนือร้อยละ 47.2 พยาบาลภาคใต้ร้อยละ 46.8 ปัจจัยมาจาก 7 ข้อ ได้แก่ 1.ไม่มีโอกาสในการพัฒนาตนเองในการพัฒนาตนเอง ไม่สามารถเปลี่ยนวิชาชีพได้ 2.มีความเสี่ยงในการทำงานด้านรังสี 3.เสี่ยงต่อการถูกทำร้ายจากผู้ร่วมงาน ผู้ใช้บริการ ทั้งทางวาจา ร่างกาย 4.ไม่ได้รับความเป็นธรรมดาด้านสวัสดิการ 5.ไม่มีอำนาจการต่อรอง ไม่สามารถโต้แย้งกับหัวหน้างาน 6.ถูกตำหนิจากการปฎิบัติงาน และ 7.ไม่มีโอกาสเลื่อนตำแหน่ง ขึ้นเงินเดือน และค่าตอบแทน

คำตอบจะออกมาเช่นไร นพ.ประดิษฐ์ คือผู้ที่จะตอบคำถามได้ตรงที่สุด ทว่า"ศิริรัตน์"และเพื่อนของเธอบอกว่า ความปลอดภัยในชีวิตการรักษาปัจจัยสำคัญคือจำนวนพยาบาลที่จะสามารถรองรับผู้ป่วย หากช่วงก่อนปีใหม่ยังไม่ได้คำตอบที่ร้องขอพวกเขาทั้ง 1.7 หมื่นคน จะหยุดงานในช่วง 7 วัน อันตราย เอาละงานนี้ในฐานะคนใช้บริการมาลุ้นกันว่าผลจะเป็นอย่างไร

--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 23 พ.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--