ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการรับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพว่า สปส.ได้แก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 โดยขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขถูกส่งไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อรอ การบรรจุเป็นวาระเข้าสู่การพิจารณา ของครม.

โดยในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่มีการแก้ไขระเบียบเกณฑ์การจ่ายเงินชราภาพ มีเพียงการแก้ไขเรื่องการรับเงินชราภาพในกรณีที่ผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือก่อนที่จะได้สิทธิ์รับเงินบำนาญชราภาพ โดยได้แก้ไขว่า หากผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเสียชีวิตก่อน อายุ 55 ปี เงินสมทบที่ผู้ประกันตนส่งมาจะตกเป็นของทายาทของผู้ประกันตน ในรูปแบบของเงินบำเหน็จ

ทั้งนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับเดิมไม่ได้กำหนดว่าใครจะเป็นผู้รับเงินในกรณีที่ผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนอายุ 55 ปี จึงต้องแก้ไขเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว  ส่วนกรณีผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพมาเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี แล้วเสียชีวิตนั้น ตาม มาตรา 77 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดว่าให้ทายาทได้รับเงินในรูปแบบบำเหน็จ เป็นจำนวนเงิน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพในแต่ละเดือนที่ผู้ประกันตนได้รับ เช่น ผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละ 1,000 บาท เมื่อเสียชีวิต ทายาทก็จะได้รับเงินเป็นบำเหน็จจำนวน 10,000 บาท

ทั้งนี้ การกำหนดว่า ผู้ประกันตนที่เสียชีวิตจะต้องได้รับเงินบำนาญชราภาพมาเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี ทายาทจึงจะมีสิทธิ์รับเงินบำเหน็จได้นั้นพิจารณาจากเงินสมทบที่นายจ้างและผู้ประกันตนส่งเข้ากองทุนประกันสังคมฝ่ายละร้อยละ 3 รวมเป็นร้อยละ 6 ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจะเป็นจำนวนเงินที่เพียงพอสำหรับจ่ายเป็นบำนาญชราภาพให้ผู้ประกันตนได้ในระยะเวลา 5 ปี  สำหรับผู้ประกันตนที่จะได้รับ เงินชราภาพนั้น จะต้องมีอายุครบ  55 ปีบริบูรณ์ และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบ 15 ปี รวมทั้งจะต้องเป็นผู้ที่ออกจากงานแล้วเท่านั้น หากยังมีงานทำอยู่ แม้ว่าจะอายุครบ  55 ปีแล้ว และส่งเงินสมทบครบ 15 ปีแล้วก็ตาม ผู้ประกันตนก็ยังไม่มีสิทธิ์รับเงินบำนาญชราภาพ ยังคงต้องส่ง เงินสมทบต่อไป ซึ่งเงินก็จะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อผู้ประกันตนออกจากงานก็จะได้บำนาญชราภาพมากขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 ธันวาคม 2555