ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยเร่งบูรณาการบริหารแรงงานต่างด้าว เปลี่ยนชื่อบัตรชมพู เป็น “บัตรแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ”

พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประธานการประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (อกนร.) ครั้งที่ 4/2559 ได้กล่าวว่า การบริหารแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ หลังสิ้นสุดการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 จะดำเนินการนำเข้าแรงงานตามกรอบบันทึกข้อตกลง (MOU) ซึ่งได้มีการลงนามครบทั้ง 4 ประเทศ (เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) พร้อมทั้งพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานให้นายจ้างในประเทศไทย พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา

ดังนั้น เพื่อให้มีมาตรการด้านกฎหมายเข้ามากำกับดูแล ควบคุม การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานอย่างเหมาะสม รวมทั้งเป็นการให้ความคุ้มครองที่เป็นธรรมแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตามหลักสากลอันเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการออกกฎหมายลำดับรอง ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะต้องมีการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยจะต้องกำหนดเจ้าภาพให้มีความชัดเจนในแต่ละงาน มีการจัดทำแผนประสานสอดคล้องกัน มีส่วนร่วมในลักษณะของหุ้นส่วน (Partnership) การทำงาน และมีความภูมิใจในความสำเร็จของงานร่วมกัน

"การเปิดศูนย์บริการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ฯ ที่ประเทศไทยตั้งขึ้นหรือศูนย์ที่บริหารจัดการโดยประเทศผู้ส่งออก จะต้องเป็นศูนย์ฯ ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานต่างด้าวได้อย่างแท้จริง ทำงานโปร่งใส เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และจะต้องสามารถลดต้นทุน ทั้งเรื่องของเวลาและตัวเงิน ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือช่วย เช่น e-Payment เป็นต้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (อกนร.) ว่า ที่ประชุมวันนี้ (24 สิงหาคม 2559) ได้มีการหารือเรื่องการเรียกชื่อใบอนุญาตทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน โดยเข้าใจผิดว่าบัตรสีชมพูคือใบอนุญาตทำงาน จึงกำหนดให้เรียกเป็นบัตรแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เนื่องจากใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวในกลุ่มกรรมกร คนรับใช้ในบ้าน จะอยู่ในบัตรใบเดียวกัน ส่วนในกิจการประมง จะถือเอกสาร คือ บัตรสีชมพูที่แสดงสถานะบุคคลที่ไม่ใช่สัญชาติไทย และใบอนุญาตทำงานเล่มสีส้ม

ที่ประชุมยังได้รับทราบกรณีทางการเมียนมากำหนดเก็บค่าธรรมเนียมการพิสูจน์สัญชาติเพื่อออกเอกสารรับรองบุคคล หรือซีไอ ซึ่งมีอายุ 2 ปี ที่ใช้แทนหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต คนละ 400 บาท โดยชำระค่าธรรมเนียมผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสในประเทศไทย แล้วนำหลักฐานไปยื่นที่ศูนย์บริการตรวจสัญชาติ ของทางการเมียนมาซึ่งจะเข้ามาตั้งในไทย 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก ระนอง สมุทรสาคร สมุทรปราการ และเชียงราย ทางด้านกัมพูชา จะออกเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหรือทีดี จำนวน 2 แสนเล่มให้แก่แรงงานกัมพูชาใน ไทยโดยจะมาตั้งจุดบริการใน 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สมุทรปราการ ชลบุรี กทม. และปทุมธานี