ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประกันสังคมชง ครม. เห็นชอบกฎกระทรวงปลดล็อกค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายกรณีลูกจ้างบาดเจ็บรุนแรงจากการทำงาน จากสูงสุด 1 ล้านบาทเป็นจ่ายตามจริงไม่จำกัดจำนวนเงิน

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ได้มอบหมายให้ สปส.จัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 7 ก.พ. 2560 เพื่อขออนุมัติและประกาศใช้

นพ.สุรเดช กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มีสาระสำคัญคือ กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานและการบาดเจ็บมีความรุนแรง สำหรับอัตราค่ารักษาพยาบาลสูงเกิน 1 ล้านบาท กรณีเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุดการรักษา ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษา

นอกจากนี้ กรณีลูกจ้างมีความจำเป็นหรือเหตุผลอันสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ ก็ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษาเช่นกัน

นพ.สุรเดช กล่าวว่า การเสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เนื่องจากอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตามกฎกระทรวงเดิม ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างและผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ ที่เกิดจากการทำงาน ต้องได้รับการรักษาพยาบาล ซึ่งกฎกระทรวงฉบับใหม่ได้ขยายค่ารักษาพยาบาลแก่ลูกจ้างที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ จะได้รับค่ารักษาพยาบาลไม่จำกัดจำนวนเงินจนสิ้นสุดการรักษา

อนึ่ง ตามกฎกระทรวงเดิม ได้กำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตามระดับความรุนแรงตั้งแต่ 5 หมื่นบาท, ไม่เกิน 1 แสนบาท, ไม่เกิน 3แสนบาท, ไม่เกิน 5 แสนบาท (โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการแพทย์ สปส.) และสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท (โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการแพทย์ สปส.) จำกัดจำนวนเงินสูงสุดที่ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลไว้ที่ 1 ล้านบาท