ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ลูกจ้างสายวิชาชีพ-สายสนับสนุน ที่ไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการได้เฮ รมว.สาธารณสุขเตรียมปรับสถานะเป็นพนักงาน สธ. สิทธิและสวัสดิการไม่น้อยหน้าข้าราชการยันเรื่องงบประมาณไม่มีปัญหา

หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือกับเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวเข้าหารือถึงปัญหาการบรรจุเป็นข้าราชการ โดยรับปากว่าจะบรรจุพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวได้ทั้งหมด 17,000 คนใน 3 ปี โดยจะนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 ธันวาคม ขณะเดียวกัน กลุ่มลูกจ้างชั่วคราวที่ยังไม่ได้รับการบรรจุ ในระหว่างรอตำแหน่งจะ ให้อยู่ในสถานะพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (ก.สธ.) ซึ่งมีสิทธิเทียบเท่าข้าราชการนั้น

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หลังจากแผนการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพ 21 สายงาน อาทิ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด ฯลฯ จำนวน 22,641 อัตราจากทั้งหมด 30,188 อัตรา เป็นข้าราชการ โดยแบ่งการบรรจุเป็นปีละ 7,547 อัตรา เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2557 นั้น ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ รวมทั้งยังมีลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุน อาทิ พนักงานธุรการ ฯลฯ อีกกว่าแสนคน ทั้งหมดจะถูกปรับสถานะจากลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (ก.สธ.) ซึ่งจะมีสิทธิสวัสดิการไม่แพ้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ในส่วนของลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพนั้นอัตราเงินเดือนของสายวิชาชีพ จะเพิ่ม 1.2 เท่าของข้าราชการ ส่วนลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนจะเพิ่มปีละ 1 ครั้งในวงเงินร้อยละ 6 ต่อปีเท่าราชการ

"ส่วนเรื่องงบประมาณในการปรับเป็นพนักงาน ก.สธ. นั้น ยังคงใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลแต่ละแห่งมาเป็นค่าจ้าง ไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ เพราะเมื่อลูกจ้างชั่วคราวที่ได้บรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ภาระรายจ่ายของโรงพยาบาลก็จะลดลง ไม่ต้องเอาเงินบำรุงมาจ่ายอีก เพราะรัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินเดือนแทน ยกตัวอย่าง เมื่อครบ 3 ปี เงินที่เคยจ่ายให้ลูกจ้างประมาณ 30,000 คน ก็จะเหลือจ่ายแค่ประมาณ 7,500 คน ส่วนที่กำหนดเงินเดือนเพิ่มขึ้น 1.2 เท่าของข้าราชการก็จะไม่กระทบโรงพยาบาลอยู่ดี เนื่องจากการเพิ่มเงินเดือนกำหนดเพียงสายวิชาชีพ ซึ่งจะเหลือประมาณ 10,000 คน จากทั้งหมด 30,000 คน เท่ากับโรงพยาบาลจะใช้เงินบำรุงน้อยลงไปเกือบร้อยละ 50 ทำให้เซฟเงินไปในตัว" นพ.ประดิษฐกล่าว

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า การปรับเงินเดือนลูกจ้างสายวิชาชีพเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.2 เท่าของข้าราชการ ตรงนี้จะใช้งบประมาณส่วนไหน เพราะที่ผ่านมาผู้บริหาร สธ. ไม่เคยออกมาพูดเรื่องนี้อย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่ปัจจุบันโรงพยาบาลแต่ละแห่งใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลในการจ้างลูกจ้างชั่วคราวอยู่แล้ว ซึ่งไม่เพียงพอเพราะเงินบำรุง ส่วนใหญ่ได้มาจากเงินที่งบซื้อยาบ้าง เงินจากผู้ป่วยที่มารักษาบ้าง หากร่างระเบียบการปรับเปลี่ยนสถานะของ สธ.ออกมา และมีการปรับเปลี่ยนสถานะของ สธ.ออกมา และมีการปรับเพิ่มเงินเดือนอีก ตรงนี้จะยิ่งซ้ำเติมโรงพยาบาล

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า อยากให้ผู้บริหาร สธ.พูดให้ชัดว่า จะใช้งบประมาณจากส่วนใด และจะของบเพิ่มเติมให้ด้วยหรือไม่ ไม่ใช่นั้นโรงพยาบาลลำบากแน่นอน

วันเดียวกัน นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มสหสาขาวิชาชีพสุขภาพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชศาสตร์ ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ขอให้บรรจุบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.เป็นข้าราชการ ว่า รพ.ที่สังกัดมหาวิทยาลัย มีหลายรูปแบบ และส่วนใหญ่จะได้รับการดูแลจากมหาวิทยาลัย และมีสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีปัญหา แต่กรณีของกลุ่มสหสาขาวิชาชีพสุขภาพ มอ.นั้น ตนยังไม่เห็นเรื่อง ต้องขอดูรายละเอียดก่อน

นพ.กำจรกล่าวว่า ส่วนข้อเรียกร้องให้รับเป็นข้าราชการนั้น ตนมองว่าต้องแยกเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ขณะนี้มีกรณีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ได้ขออัตราข้าราชการจำนวนมาก โดยให้เหตุผลว่า หากบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย จะไม่มีคนอยากมาทำงาน เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย แต่หากให้เป็นข้าราชการ จะจูงใจคนให้มาทำงานในพื้นที่ได้มากขึ้น ซึ่งหากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กับ มนร. ก็คงต้องมาพิจารณากรณีของ ม.อ. เช่นเดียวกัน แต่อาจต้องกำหนดเป็นพื้นที่เฉพาะว่าควรจะเริ่มตั้งแต่จังหวัดใด ที่จะบรรจุเป็นข้าราชการเพื่อจูงใจให้คนไปทำงานในพื้นที่ โดยอาจมีข้อแม้ว่าต้องอยู่ในพื้นที่ให้นานที่สุด

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 5 ธันวาคม 2555