ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ไม่กี่ทศวรรษก่อน ปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพที่ทั่วโลกกังวลคือ ผู้คนมีอาหารรับประทานไม่เพียงพอ แต่ปัจจุบันความวิตกด้านนี้เปลี่ยนเป็นคนกินดีอยู่ดีมากเกินไป

ดิ อีโคโนมิสต์ ชี้ว่า ความมั่งคั่งที่มากขึ้นหมายถึงการทิ้งรถจักรยานไปหามอเตอร์ไซค์  จากนั้นก็เป็นรถยนต์ ส่วนการทำงานในทุ่งกว้างก็กลายเป็นนั่งอยู่กับที่

ฐานะที่ดีขึ้นทำให้ผู้คนสามารถซื้อหาอาหารได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่อุดมด้วยแป้ง ไขมัน และน้ำตาล นอกจากนี้ การที่แม่หรือภรรยาต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้ครอบครัวต้องหันไปพึ่งพาอาหารปรุงสำเร็จ  ซึ่งจากการศึกษาชี้ว่าอาหารผ่านกระบวนการตามท้องตลาดมีส่วนผลักดันให้อัตราการ เป็นโรคอ้วนพุ่งขึ้น

ปัจจัยเฉพาะในแต่ละประเทศก็เป็นอีกสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหาน้ำหนักตัว อาทิ เม็กซิโกซึ่งคุณภาพน้ำประปาไม่น่าไว้ใจ ประกอบการทำการตลาดอย่างชาญฉลาดของโค้ก ทำให้ชาวเม็กซิกันวัยผู้ใหญ่บริโภคน้ำดำเฉลี่ย 738 หน่วยบริโภคต่อปี  ส่วนในสหรัฐอาหารขยะก็มีราคาถูกกว่าของกินที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ

ขณะที่ในตะวันออกกลางธรรมเนียมการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ของชนเผ่าเบดูอิน บวกกับฐานะที่ร่ำรวยขึ้น นำไปสู่พฤติกรรมรับประทานอาหารค่ำมื้อใหญ่และดึก  ด้านแดนมังกร  วัยรุ่นและคนทำงานก็แห่กันไปใช้บริหารร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแน่นขนัดทุกวัน

ต้นทุนของโรคอ้วนสูงมาก ทั้งลดผลิตภาพในการทำงานและนำมาซึ่งโรคร้ายในระยะยาว  ตั้งแต่เบาหวาน โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตก มะเร็งบางชนิด และยังกระทบต่อสุขภาพจิตด้วย

ผลการวิจัยสุขภาพคนทั่วโลกที่รวบรวมโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตันชี้ว่า  ตั้งแต่ปี 2533 ในบรรดาต้นตอของโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย ความอ้วนขยายวงกว้างเร็วที่สุด สำหรับผู้หญิงค่าดัชนีมวลกายที่สูง (หนึ่งในตัวชี้วัดระดับความอ้วน คำนวณได้จากน้ำหนักตัว (กก.) หารด้วยส่วนสูง (ม.) ยกกำลังสอง) เป็นต้นตอใหญ่อันดับ 3 สู่โรคภัยไข้เจ็บ

ในภาวะที่อัตราการตายในวัยทารก ลดลง และอายุขัยของประชากรโลกยืนยาวกว่าในอดีต แต่ปัญหาโรคอ้วนกลับทวีความรุนแรงขึ้น นี่อาจกลายเป็น จุดเปลี่ยนสำหรับนโยบายสาธารณสุข ระดับนานาชาติ  เพราะการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรไม่ใช่เรื่องปัญหาร้ายแรงอีก ต่อไป แต่เป็นการมีชีวิตอยู่พร้อมกับสารพัดโรครุมเร้า

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 - 6 ม.ค. 2556