ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"การบูรณาการสามกองทุน" กลายเป็นนโยบายเด่นด้านสาธารณสุขของพรรคเพื่อไทย ที่แซงหน้ากว่าการฟื้นคืน "30 บาทรักษาทุกโรค" ที่มีการพัฒนาการบริการเพิ่มจากเดิมเสียอีก เนื่องจากเห็นผลชัดเจนกว่า จากนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุกแห่ง ที่ประเดิมเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 และตามมาด้วยนโยบายการรักษาเอดส์และไตมาตรฐานเดียว

ต่อด้วยในปี 2556 รัฐบาลยังครอบคลุมไปถึงการรักษาโรคมะเร็งสามกองทุนให้ได้สิทธิเท่าเทียม ซึ่งเชื่อว่าจะขยายไปยังกลุ่มโรคอื่นๆ อีก ด้วยเหตุนี้กลายเป็นคำถามว่า จะมีการรวมสามกองทุน ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยให้หน่วยงานเดียวเป็นผู้บริหารจัดการหรือไม่ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการอย่างเท่าเทียมแล้ว ยังช่วยในเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่าย

"ต้องถามกลับว่า หากรวมแล้วจะก่อประโยชน์อย่างไร เพราะเมื่อมีการบูรณาการในบางกลุ่มโรคจำเป็นที่มีราคาแพง นอกจากผู้ป่วยจะเข้าถึงบริการ และได้รับการรักษาอย่างเสมอภาคแล้ว แนวคิดรวมสามกองทุนก็ไม่มีความหมาย..." ถ้อยคำของ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไขข้อข้องใจเรื่องนี้

ประเด็นการรวมสามกองทุน มีการพูดคุยมานาน แต่ไม่ได้รับการตอบรับมากนัก เพราะเชื่อว่าการรวมลักษณะดังกล่าวจะทำให้การเพิ่มสิทธิประโยชน์ไม่กระเตื้อง แต่หากแยกส่วนกันจะทำให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชน จึงนำมาสู่นโยบายการบูรณาการฯ ที่เน้นในเรื่องการจัดการปัญหาการรักษาที่ไม่เท่าเทียมของแต่ละกองทุนแทน  โดยเริ่มจากการบริการ "เจ็บป่วยฉุกเฉิน" นพ.วินัยกล่าวว่า หลังจากให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-30 พฤศจิกายน 2555 มีผู้ใช้สิทธิ 12,845 ราย จากโรงพยาบาล (รพ.) ทั้งหมด 239 แห่ง โดยสัดส่วนข้าราชการใช้สิทธิมากที่สุดในสัดส่วน 121 คนต่อแสนประชากร หลักประกันสุขภาพฯ 12 คนต่อแสนประชากร และผู้ประกันตน 9 คนต่อแสนประชากร ส่วนใหญ่มาด้วยโรคหัวใจ และอุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งในภาพรวมถือว่าช่วยเหลือชีวิตของประชาชนได้รวดเร็วขึ้น ทำให้การเข้าถึงบริการ ง่ายขึ้น

เมื่อถามถึงอุปสรรค ยังติดเรื่องคำนิยาม ประชาชนบางคนไม่อยู่ในกรณีฉุกเฉินแต่อยากใช้สิทธิ แต่ รพ.บางแห่งก็ไม่ดำเนินการตามคำนิยาม แม้จะรักษาให้พ้นวิกฤตแต่ก็มีปัญหาเรียกเก็บอีก ตรงนี้ก็ต้องสร้างความเข้าใจในคำว่า "ฉุกเฉิน" จะยึดตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ส่วนเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยเมื่อพ้นภาวะวิกฤต ยังเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุง เพราะที่ผ่านมา สปสช.หาเตียงเพื่อส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.ในสิทธิใช้เวลา 2 วัน ทั้งที่ต้องเร็วกว่านี้ แม้จะมีอุปสรรค แต่ด้วยเจตนารมณ์ที่ดีจึงขยายไปสู่การรักษาเอดส์และไตมาตรฐานเดียว ซึ่งมุ่งเน้นการวินิจฉัยโรค การให้ยาเหมือนกัน และเมื่อเปลี่ยนแปลงสิทธิจะสามารถรักษาต่อได้เหมือนสิทธิเดิม

แม้ปี 2555 การบูรณาการต่างๆ จะไม่สมบูรณ์เต็มร้อย แต่รัฐบาลยังสานต่อนโยบายด้วยการขยายไปยังโรคมะเร็ง เบื้องต้นเลือกกลุ่มมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม รวมทั้งจะให้บริการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายทุกชนิดอีก ยังมีแนวคิดในการครอบคลุมไปยังผู้สูงอายุ เนื่องจากสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จึงต้องเตรียมพร้อมในแง่การดูแลสุขภาพ แว่วว่า ผู้บริหาร สปสช.เตรียมบินถึงญี่ปุ่นเพื่อศึกษาดูงานการดูแลผู้สูงอายุในเดือนมกราคมนี้ เพราะญี่ปุ่นจัดเป็นประเทศที่มีกลุ่มคนสูงวัยมาก โดยสัดส่วนผู้สูงวัยอายุ 65 ปีพบถึง 24 คนต่อ 100 คน ส่วนไทยอายุ 60 ปีพบ 11 คนต่อ 100 คน

หวังว่าจะไม่ใช่แค่นโยบายที่สวยหรู เพียงเพื่อรวมการบริหารแค่หน่วยเดียวเท่านั้น...

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : catcatt_2927@hotmail.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 2 มกราคม 2556