ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาแนะ องค์การเภสัชฯ ผลิตวัคซีนคอตีบแทนการนำเข้า ระบุคุ้มค่า เพราะใช้ปีละเป็นล้านโดส

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวช ศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบในเด็กเล็กร่วมกับไอกรนและบาดทะยักเมื่อปี2520 ถือว่าครอบคลุมประชากรมากกว่า 90% เท่ากับว่าปัจจุบันผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีลงมาเกือบทั้งหมดมากกว่าร้อยละ 90 ได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบแล้ว แต่สำหรับผู้เกิดก่อนหน้านี้บางคนไม่เคยได้รับวัคซีนดังกล่าวเลย และไม่เคยได้รับเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้ไม่มีภูมิคุ้มกัน ดังนั้นจึงเป็นปัญหาที่เราพบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคคอตีบในกลุ่มผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ซึ่งทุกปีจะพบโรคนี้บ้างตามตะเข็บชายแดนและแถบภาคใต้ แต่ปีนี้พบการระบาดที่จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี เพชรบูรณ์ ซึ่ง สธ.ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาภูมิคุ้มกันโรคคอตีบในประชากร จ.ขอนแก่น ซึ่งใกล้เคียงพื้นที่ระบาดของโรคดังกล่าวจำนวนกว่า 500 ราย พบว่าประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี ยกเว้นกลุ่มผู้ใหญ่อายุระหว่าง 25-50 ปี จะพบ 85-90% ที่มีภูมิคุ้มกันแล้ว เหลืออีก 10-15% ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน นั่นคือปัญหาที่ทำให้มีการระบาดของโรคดังกล่าว และถ้าถามว่าจะป้องกันการระบาดได้อย่างไร ก็คือต้องให้คนกลุ่มนี้มารับวัคซีนป้องกันคอตีบในผู้ใหญ่

"วัคซีนป้องกันคอตีบในผู้ใหญ่ที่ให้ในประเทศ ไทยตอนนี้ เป็นวัคซีนรวมป้องกันคอตีบและบาดทะยัก คอตีบเดี่ยวๆ ไม่มี เพราะฉะนั้นในคนที่มีบาดแผลที่ต้องฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักหรือสตรีตั้งครรภ์ที่จะต้องฉีดอยู่แล้ว ก็ควรใช้วัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยักในผู้ใหญ่ มาแทนวัคซีนป้องกันบาดทะยักอย่างเดียว นอกจากนี้ สธ.กำลังมีแผนกระตุ้นวัคซีนคอตีบ บาด ทะยักในผู้ใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถป้องกันการระบาดของโรคคอตีบในอนาคตได้อย่างดี เพราะเรารู้ว่าสาเหตุการเกิดอยู่ที่ผู้ใหญ่" ศ.นพ.ยงกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเนื่องจากวัคซีนคอคีบจำเป็นต้องให้ซ้ำอย่างต่อเนื่องซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยผลิตวัคซีนตัวนี้ได้ แต่ตอนนี้ต้องนำเข้า เพราะฉะนั้นจำเป็นที่เราต้องกลับมาคิดเรื่องการผลิตวัคซีนนี้เองหรือไม่ ศ.นพ.ยงกล่าวว่า เรื่องนี้คิดว่าองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะว่าสมัยก่อนนั้น อภ.สามารถผลิตวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยักได้ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้ผลดี แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าทำไมต้องนำเข้า ส่วนตัวอยากให้ อภ.กลับมาผลิตวัคซีนป้องกันโรคคอตีบอีกครั้งแทนการนำเข้า เพราะเป็นวัคซีนที่จำเป็นทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ ที่ไม่สามารถหยุดให้กับประชาชนได้ และใช้แต่ละปีเป็นจำนวนหลายล้าน โดส

ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงการควบคุมโรคติดต่อหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ศ.นพ.ยงกล่าวว่า เรื่องโรคติดต่อแน่นอนว่าคนผ่านไปผ่านมา มีการอพยพของคนจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง โรคประจำถิ่นก็อาจจะข้ามไปยังอีกประเทศหนึ่งได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ สธ.ที่ต้องคอยดูแล ต้องให้ภูมิคุ้มกันกับคนไทยอย่างเต็มที่ และป้องกันไม่ให้มีการนำโรคเข้ามาแพร่ในประเทศ โดยเฉพาะโรคที่เราสามารถควบคุมได้แล้ว ยกตัวอย่างที่ประเทศพม่ายังมีโรคเท้าช้างอยู่ แต่ประเทศไทยควบคุมโรคนี้ได้แล้ว เราก็ต้องป้องกันโรค โดยดูแลผู้ที่จะเข้าประเทศจากแหล่งรังโรคต้องไม่มีเชื้อดังกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 7 มกราคม 2556