ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เคยประกาศการคงงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นเวลา 3 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2555-2557 ในจำนวน 2,755.60 บาทต่อคนต่อปี เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประเทศไม่ให้บานปลาย แต่ที่ผ่านมามีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วย ทั้งจากผู้บริหารโรงพยาบาลที่สังกัดและอยู่นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพราะด้วยภาระค่าใช้จ่ายบริหารที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้น ทั้งจากนโยบายการปรับค่าแรง 300 บาทต่อวัน การเพิ่มเงินเดือนระดับปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน ไม่นับรวมภาระจากอัตราค่าเงินเฟ้อ การปรับเพิ่มเงินเดือน 3% ตามปกติ รวมถึงการปรับเพิ่มของราคาครุภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ และยารักษาโรค

แต่จากการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งมี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีการพิจารณางบประมาณเหมาจ่ายรายหัวประจำปี 2557 โดยที่ประชุมเห็นควรให้มีการขยับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 2,955.91 บาทต่อคนต่อปี หรือ 7.3% ซึ่งเมื่อคิดตามจำนวนประชากรไทย 49.097 คน จะอยู่ที่ 145,126.313 ล้านบาท และเตรียมที่จะนำตัวเลขดังกล่าวเสนอต่อสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ก่อนนำเข้า ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อดูรายละเอียดพบว่าการเพิ่มขึ้นของงบประมาณก้อนดังกล่าวเป็นเพียงการคำนวณเพิ่มในส่วนของเงินเดือนที่ต้องปรับเพิ่มตามปกติและอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น ไม่รวมถึงการปรับค่าแรง 300 บาท และการเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทตามนโยบายรัฐที่ยังคงเป็นภาระการบริหารของโรงพยาบาลต่อไป  งบประมาณที่เพิ่มขึ้นนี้ยังเป็นการเพิ่มเติมในส่วนของการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จากเดิมปี 2556 อยู่ที่ 313.10 บาทต่อคนต่อปี เป็น 383.61 บาทต่อคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 4,746.85 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากบอร์ด สปสช.มองว่าการทำเรื่องบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนับเป็นการลงทุนที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในอนาคต หากทำให้คนเจ็บป่วยลดลง ภาระการรักษาพยาบาลก็จะลดลงตาม จึงถึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพียงแต่การดำเนินการนั้นจะต้องมีการจัดทำตัวชี้วัดเพื่อประเมินผล เพื่อกันโรงพยาบาลดึงงบประมาณก้อนนี้ไปใช้ในด้านอื่น รวมทั้งต้องดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วม

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ของบประมาณเพิ่มเติมในส่วนของกองทุนเฉพาะโรค ทั้งงบบริการสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 2,950.81 ล้านบาท งบบริการสุขภาพผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 5,233.73 ล้านบาท และเพิ่มเติมงบบริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง 935.68 ล้านบาท พร้อมกันนี้ในปี 2557 ยังจัดเพิ่มเติมงบบริการสุขภาพผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง 68.43 ล้านบาท งบบริการสุขภาพผู้ป่วยปอดอุดกันเรื้อรัง 148.24 ล้านบาท และงบบริการสุขภาพรักษาและฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติด 178.59 ล้านบาท พร้อมกันนี้ยังมีการจัดเพิ่มงบเพื่อเป็นงบบริการเพื่อประสิทธิภาพหน่วยบริการ 2,125.04 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การเตรียมเสนอขอเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวนับเป็นข่าวดีหลังจากที่ผู้บริหารโรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่ต่างได้แสดงความวิตกกังวล โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีตัวเลขติดลบที่ต้องทำการบีบรัดการบริหารเพิ่มอีก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการบริการรักษาพยาบาลได้

จากนี้คงต้องรอลุ้นว่าตัวเลขงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ขอขึ้นไปนั้น จะผ่านไฟเขียวจากสำนักงบประมาณหรือไม่ เพราะเป็นธรรมเนียมปกติที่ต้องถูกปรับลด ซึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับฝีมือการแจกแจงของผู้บริหาร สปสช. และกระทรวงสาธารณสุขหลังจากนี้

ผู้เขียน : ดวงกมล   สจิรวัฒนากุล email : lonk_dk@hotmail.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 มกราคม 2556