ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ขอยกย่องสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ริเริ่มแนวคิดใหม่ๆ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี โดยศึกษาโมเดลญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุ จะเน้นการพัฒนา ให้ชุมชนช่วยเหลือกัน แต่ต้องมีค่าใช้จ่าย จึงเป็นไปได้ที่จะเริ่มเก็บเบี้ยประกันสุขภาพ ตั้งแต่อายุ 40 ปี ถึง 60 ปี จึงหยุดเก็บให้ระบบดูแล

เป็นการประกันสุขภาพ ตามหลักการช่วยเหลือตนเอง โดยเริ่มจ่ายเงินตั้งแต่ในวัยทำงานและมีรายได้ ไม่ต้องคอยแบมือขอพึ่งนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค เช่นเดียวกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็ได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง คือการเตรียมจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้แก่ลูกจ้างเอกชนที่มีอายุ 55 ปี และประกันสังคมครบ 15 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2557 หรือปีหน้า

ประเทศไทยในปัจจุบัน มีประชากร ประมาณ 67 ล้านคน อยู่ในวัยทำงาน 38.7 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบ (ทั้งข้าราชการและลูกจ้างเอกชน) 14.6 ล้านคน และเป็นแรงงานนอกระบบถึง 24.1 ล้านคน ทั้งข้าราชการและลูกจ้างเอกชนในระบบ ต่างมีหลักประกันโดยถ้วนหน้า คิดเป็น 38% ของแรงงานทั้งหมด แต่แรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันมีถึง 62%

แรงงานนอกระบบกว่า 24 ล้านคน ส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกัน จึงเป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลจะต้องช่วยเหลือ ให้มีหลักประกันเสียตั้งแต่วัยฉกรรจ์ สามารถทำงานและมีรายได้ ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุ สัดส่วนของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ถ้าไม่มีหลัก ประกันตั้งแต่เนิ่นๆ คนชราเหล่านี้จะพึ่งใคร

การเริ่มประกันตนตั้งแต่ในวัยทำงาน จึงเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ไม่ใช่ประกันแค่สุขภาพ แต่จะต้องขยายไปถึงการประกันการว่างงาน และบำนาญชราภาพ แทนที่จะนั่งแบมือรอรับ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เดือนละแค่ 500 หรือ 7–8 ร้อยบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนของไทย ที่ถือว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 1,500 บาท คือคนยากจน

การเริ่มประกันตนตั้งแต่วัยทำงาน สอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งมีสุภาษิตบทหนึ่งที่คนไทยรู้จักดี นั่นก็คือ “อัตตาหิ อัตตะโน นาโถ” “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” เป็นวิธีการที่จะทำให้ผู้สูงอายุพึ่งตนเองได้ และครองชีพชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องถูกนักการเมืองมอมเมา ด้วยการเอาเศษเงินเล็กๆ น้อยๆ ไปแจก หรือทุ่มเงินภาษีประชาชนซื้อเสียงประชาชน

การประกันสุขภาพคนไทยทุกคน และการผลักดันให้ผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ไทย ส่วนใหญ่เป็นความริเริ่มของฝ่ายข้าราชการ ส่วนการขยายการประกันให้ครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้วางโครงการกองทุนเงินออมแห่งชาติ และ “การประกันสังคมชาวบ้าน” รัฐบาลปัจจุบันสานต่อหรือไม่

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 18 มกราคม 2556