ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เครือข่ายประชาชนเปิดศึก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หลังรวบรัดเปิดเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปสิ้นเดือนนี้ ชี้ข้อมูลขออำนาจเจรจากับ ครม. ยกแต่ผลดีของการทำ FTA แถมขู่เจรจาไม่ทันถูกตัด GSP ทำส่งออกไทยอ่วมแน่ หวั่นกรอบเจรจาเปิดช่องขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาให้ EU ตามสูตร 20+5+5 ปี หรือมากกว่า ส่งผลค่าใช้จ่ายยาไทยบานทะโรคสูงขึ้นปีละ 80,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป หรือ FTA ไทย-EU หลังกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ประกาศจะเปิดการเจรจารอบแรกในสิ้นเดือนมกราคมนี้ว่าเครือข่ายประชาชนได้ออกมาเคลื่อนไหวโจมตี กรมเจรจาการค้าฯ กระทำการที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 190 และเป็นการกระทำที่ขาดธรรมาภิบาลที่ข้าราชการพึงมี เนื่องจากกรมเจรจาการค้าฯไม่ยอมเปิดเผย ร่างกรอบการเจรจาFTA ไทย-EU อีกทั้งการให้ความเห็นชอบรวบรัด ขาดการมีส่วนร่วม

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวแสดงความสงสัย ทำไมกรมเจรจาการค้าฯจึงไม่ยอมเปิดเผยกรอบการเจรจา แต่กลับแจ้งต่อสาธารณชนว่า เป็นความลับ หากกรอบการเจรจายังถูกปิดเป็นความลับเช่นนี้ ไม่ว่ากรมจะจัดประชาพิจารณ์สักกี่รอบใครจะไปให้ความเห็นหรือข้อกังวล

ล่าสุด เครือข่ายประชาชน ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยัง คณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบกระบวนการจัดทำการเจรจา

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้ตรวจสอบหนังสือของกระทรวงพาณิชย์ เรื่องร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ที่เสนอต่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี พบว่า กรมเจรจาการค้าฯพยายามให้น้ำหนักไปที่ความจำเป็นที่จะต้องเร่งเปิดการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปโดยด่วนที่สุด จากเหตุผลที่ว่าประเทศไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางอัตราภาษีศุลกากร (GSP) ในปี 2558 มีผลทำให้สินค้าส่งออกสำคัญของไทยหลายรายการต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ในตลาดสหภาพยุโรปได้

"วิธีคิดของกรมเจรจาการค้าฯกำลังบอกต่อสาธารณชนว่า GSP เป็นสิ่งสำคัญของการส่งออกสินค้าไทย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็พยายามบอกกับผู้ส่งออกว่า อย่าไปหวังพึ่งพา GSP ให้ผู้ส่งออกเร่งพัฒนาสินค้าและลดต้นทุนการผลิต แต่พอถึงเวลาอยากจะทำ FTA ก็งัดเหตุผลนี้มาขู่ว่า ถ้าไม่รีบเจรจาให้เสร็จภายใน 2 ปี (2556-2558) สินค้าไทยจะไม่สามารถแข่งขันได้เพราะไม่ได้ลดภาษี เหมือนกับที่ต้องพึ่ง GSP" 1 ในเครือข่ายประชาชนให้ความเห็น

ในทางกลับกัน สิ่งที่เครือข่ายประชาชนเห็นว่า หากทำ FTA กับสหภาพยุโรปแล้ว จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคประชาชน กลับถูก "บิด" ข้อมูลเหลือเพียง 5 บรรทัด ด้วยข้อความว่า ภาคธุรกิจ มีความห่วงกังวลในเรื่องข้อผูกพันเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เกินกว่าที่ตกลงไว้ใน WTO หรือ TRIPS-plus, มาตรการสิทธิเหนือสิทธิบัตรยาและการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน, การเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่ การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ขณะที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เสนอนำรายงาน "ความเห็นและข้อเสนอแนะการจัดทำ FTA ไทยสหภาพยุโรป ที่จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา" ระบุอย่างชัดเจนว่าสหภาพยุโรปแสดงท่าทีที่จะเรียกร้องให้ประเทศไทยเพิ่มมาตรการในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา"มากกว่า" ความตกลงพหุภาคีว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าหรือ Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights หรือ TRIPS-plus ในประเด็นของ

1)การขอขยายระยะเวลาความคุ้มครองสิทธิบัตร (Patent Term Extension) 2)การให้สิทธิเด็ดขาดสำหรับผลการทดสอบเกี่ยวกับยา (Data Exclusivity) 3)การเชื่อมโยงระหว่างการขออนุญาตจำหน่ายยาและสิทธิบัตร (Lingkage between Drug registration and Patents) 4)การเพิ่มระยะเวลาความคุ้มครองสิทธิบัตรเนื่องจากความล่าช้าของกระบวนการสิทธิบัตรและกระบวนการขออนุญาตจำหน่ายยา (Patent Term Compensation for Granting Delay/Marketing Approval) และ 5)การนำมาตรการจับ ยึด อายัด ทำลายยาและเวชภัณฑ์ที่สงสัยว่าปลอม หรือละเมิดสิทธิบัตร ณ จุดผ่านแดน (Border Measure) มาใช้

ข้อเรียกร้องของ EU เหล่านี้จะถูกนำมาเป็นเงื่อนไขให้ประเทศคู่เจรจา FTA กับสหภาพยุโรปทุกประเทศให้ "ยอมรับ" การคุ้มครองที่มากกว่าที่ตกลงกันไว้ใน WTO หรือ TRIPS-plus แลกกับการลดภาษีสินค้านำเข้าไปจำหน่ายในตลาดยุโรป ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) โดยผลกระทบที่ประเทศคู่เจรจาจะได้รับก็คือ เกิดการผูกขาดตลาดยาภายในประเทศ "มากกว่า" 20 ปี โดยอาจจะกลายเป็น 20+5+5 หรือมากกว่านี้ ยาสามัญภายในประเทศมีราคาแพงขึ้น จนกลายเป็นปัญหาในการเข้าถึงยารักษาโรคร้ายแรงของประชาชน (อ่านสัมภาษณ์ ผศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ น.6 ถ้ามีการผูกขาดข้อมูลยาData Exclusivity-จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยสูงขึ้นอีกปีละ 81,356 ล้านบาท หรือมากกว่าการขยายอายุสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี มีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้ายยาเพิ่มขึ้นปีละ 27,883 ล้านบาท)

ทั้งนี้ ข้อความที่ถูกระบุไว้ในกรอบการเจรจา FTA ไทย-EU ที่เครือข่ายประชาชนเห็นว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกำลังขออำนาจในการเจรจา "เกินเลย" ไปจากข้อตกลง TRIPS ที่ทำไว้กับ WTO และจะส่งผลให้ไทยให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยาของ EU มากกว่าหรือ TRIPS-plus ก็คือข้อความที่ว่า "ให้ระดับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา "สอดคล้อง" กับระดับการคุ้มครองตามความตกลงของ WTO/หรือความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาษี"

คำว่า "สอดคล้อง" ตีความได้ว่าประเทศไทยอาจจะให้การคุ้มครองเรื่องสิทธิบัตรเกินกว่า TRIPS และจะนำมาซึ่งการ "ยอมรับ" ข้อเรียกร้องของ EU ในเรื่องของสิทธิบัตร 5 ประการข้างต้น ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อการเข้าถึงยาของประชาชนในอนาคต

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 - 23 ม.ค. 2556--