ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 28 มกราคม สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดงานประชุมชี้แจงการดำเนินงานโครงการคลินิกโรคจากการทำงาน โดยมีนายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน และนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการ สปส. รวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นตัวแทนโรงพยาบาล สถานประกอบการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 450 คนเข้าร่วม

นายอนุสรณ์กล่าวว่า ในปี 2555 ที่ผ่านมามีลูกจ้างที่เป็นผู้บาดเจ็บจากการทำงานร้อยละ 96 และเจ็บป่วยจากการทำงานประมาณร้อยละ 4 เข้ารับบริการในคลินิกโรคจากการทำงานประมาณ 1.3 แสน ซึ่งกองทุนเงินทดแทนได้จ่ายเงินชดเชยไปทั้งหมด 18 ล้านบาท โดยภาพรวมจำนวนลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานยังถือเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ ดังนั้น ในปีนี้กระทรวงแรงงานจึงให้ สปส.ร่วมมือกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมทั้งโรงพยาบาลสังกัดหน่วยงานต่างๆ รณรงค์ลดอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยเน้นการดูแลเชิงป้องกัน เพื่อให้ลูกจ้างมีสุขภาพดีและสามารถทำงานในสถานประกอบการได้นานขึ้น ทั้งนี้ ยอมรับว่าสถิติการเจ็บป่วยจากการทำงานที่ลดลงทุกปี ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่นายจ้างไม่ยอมแจ้งว่ามีลูกจ้างประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กวดขันเรื่องนี้ หากพบการกระทำความผิดจะมีโทษปรับอัตราส่วนการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้นจากปกติ ร้อยละ 0.2-1 ตามความเสี่ยงของประเภทกิจการ โดยมีอัตราการเก็บเพิ่มอยู่ที่ร้อยละ 0.04-2.5

"หากลูกจ้างเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ก็ขอให้ไปแจ้งต่อคลินิกโรคจากการทำงานหรือ สปส.เพื่อขอใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้นายจ้างเป็นผู้แจ้ง หาก สปส.ตรวจสอบแล้วพบว่าอาการเจ็บป่วยไม่ได้เกิดจากการทำงานก็ไม่มีปัญหาในการใช้สิทธิเพราะสามารถโอนไปใช้สิทธิกองทุนประกันสังคมได้" นายอนุสรณ์กล่าว

นายจีรศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบัน สปส.ได้ขยายคลินิกโรคจากการทำงานเป็น 90 แห่ง จากเดิมที่มี 81แห่งในปี 2555 สามารถดูแลลูกจ้างได้ครอบคลุม 8.58 ล้านคน สถานประกอบการ 342,084 แห่ง โดยสามารถลดการประสบอันตรายลงเหลือ 4.49 ต่อ 1,000 ราย จากอัตราเดิม 4.55 ต่อ 1,000 ราย ในปี 2555

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 29 มกราคม 2556