ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"กมธ.สธ." จวก "สธ." ขึ้นค่ารักษาพยาบาล 10-15% แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำประชาชนเดือดร้อนเหตุ "รพ.ศิริราช" โวยขึ้นค่าแรง 300 บาท สร้างภาระให้โรงพยาบาล แนะรัฐบาลควรเพิ่มงบ ให้เฉพาะโรงพยาบาล "ศิริราช-รามาฯ-จุฬาฯ" มากกว่าด้าน "บิ๊กสธ." ยันขึ้นค่ารักษาพยาบาลไม่กระทบประชาชนในระบบประกันสุขภาพ พร้อมให้ตั้งคกก.ไกล่เกลี่ยค่ารักษา "ครม." อนุมัติลดเงินสมทบประกันสังคมเหลือ 336 บาท/เดือน

เมื่อวันที่ 29 ม.ค.56 นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เตรียมปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาลอีก 10-15 เปอร์เซ็นต์ ว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากที่โรงพยาบาลศิริราชออกมาโวยวาย เพราะมีการขึ้นค่าแรงลูกจ้างเป็นรายละ 300 บาท ทำให้โรงพยาบาลศิริราชมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เนื่องจากมีลูกจ้างจำนวนมาก ทำให้ต้องแบกรับภาระไม่ไหว แต่รัฐบาลกลับเลือกแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่ารักษาพยาบาลอีก 10-15 เปอร์เซ็นต์ ตนมองว่าไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เพราะมีประชาชนบางกลุ่มที่มีเงินจำนวนไม่มาก แต่เลือกที่จะรักษาด้วยการเสียเงินและไม่รับสิทธิตามบัตรต่างๆ เนื่องจากการอำนวยความสะดวกมีปัญหา ยุ่งยาก และรอนาน ไม่ได้รับการบริการที่ดี และเมื่อเปรียบเทียบราคายาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มียาบางชนิดได้ปรับราคาเพิ่มขึ้น แม้จะไม่สูงมากยาบางชนิดได้ปรับราคาลง

ดังนั้น เหตุผลการขึ้นค่ารักษาดังกล่าว ตนไม่เห็นด้วย รัฐบาลทำวิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลไม่ควรเลือกการขึ้นค่ารักษาพยาบาล แต่ควรให้งบประมาณที่เพียงพอกับรพ.ศิริราช, รพ.รามาธิบดี, รพ.จุฬาฯ ให้เพียงพอกับการบริหาร ซึ่งการแก้ปัญหานี้เป็นการทำผิดวิธี ปัญหาทุกอย่างจะตกอยู่กับประชาชน แพงทั้งแผ่นดิน ทั้งนี้โรงพยาบาลเอกชนก็จะใช้จังหวะนี้ปรับขึ้นราคาค่ารักษาด้วยเช่นกัน คนที่เดือดร้อนคือประชาชนทุกระดับชั้น

ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ประดิษฐสินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลในขณะนี้ว่า เป็นเรื่องของค่าวัสดุต่างๆที่หลายปีแล้วยังไม่ได้มีการปรับราคา ยืนยันว่าการปรับค่าธรรมเนียมรักษาพยาบาลต่างๆไม่ได้กระทบกับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะได้รับการดูแลจากรัฐบาล ไม่ต้องเสียเงินอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในระบบหลักประกัน30 บาท ข้าราชการ หรือประกันสังคมส่วนคนที่จะต้องจ่ายเงินก็คือคนต่างชาติหรือคนที่ไม่ได้มาตามขั้นตอน เช่นเจ็บป่วยนิดหน่อยแต่ไม่ได้ใช้ระบบบริการปฐมภูมิ แต่มาที่โรงพยาบาลเลยก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง สำหรับโรงพยาบาลเอกชนตนมองว่าไม่มีเหตุผลที่จะต้องขึ้นราคา เพราะต้นทุนเป็นปัจจุบันอยู่แล้วจะอ้างว่าเพราะรัฐบาลปรับขึ้นก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนก็ปรับราคาขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่มีทางจะมารอ 4-5 ปี เหมือนรัฐบาล หากเอกชนมีการขึ้นราคาตอนนี้ก็สามารถต่อว่าได้ แต่เท่าที่ตรวจสอบยังไม่พบว่ามีโรงพยาบาลเอกชนปรับขึ้นราคา

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นตัวแทนของทั้ง 2 ฝ่ายคือ ถ้าประชาชนเข้าไปรักษาพยาบาลในขั้นต้นและมีปัญหาร้องเรียนเรื่องค่ารักษาพยาบาล คณะกรรมการจะเข้าไปตรวจสอบทางวิชาการว่ามีการนำผู้เข้ารับการรักษาไปตรวจในสิ่งที่ควรจะตรวจหรือไม่และอัตราการคิดเงินสมควรหรือไม่ โดยคณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อไกล่เกลี่ยเพราะตนอยากให้เป็นเรื่องของการเข้าใจซึ่งกันละกัน และหวังว่าจะเป็นตัวกลางที่ช่วยลดข้อขัดแย้งทางกฎหมายได้

ด้าน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอการลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้างในอัตราเท่ากันร้อยละ 1 ส่งผลให้ทั้ง 2 ฝ่าย ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนร้อยละ 4 ตลอดปี 2556 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน30 วัน จึงมีผลบังคับใช้ แต่ที่ประชุมเห็นว่าช่วงสิ้นเดือน ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน จึงให้เริ่มบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่เดือน ม.ค.เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าครม.มีมติอนุมัติเงินสมทบเงินกองทุนประกันสังคมที่ลดทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง ครั้งนี้ จากเดิมเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ336 บาท

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 30 มกราคม 2556