ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีนโยบายขยายความคุ้มครองแรงงานไปยังแรงงานนอกระบบเพื่อให้มีหลักประกันใกล้เคียงกับแรงงานในระบบ โดยเน้นเรื่องหลักๆ 3 ด้าน คือ 1.เงื่อนไขของสัญญาจ้าง ระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง ต้องเป็นธรรม 2.ความเป็นธรรมด้านรายได้ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ว่างานแต่ละประเภทควรจะได้รับค่าจ้างเท่าไหร่ เพราะแรงงานในระบบมีกฎหมายคุ้มครอง ให้มีรายได้ขั้นต่ำวันละ 300 บาทแล้ว และ 3.ความมั่นคงในชีวิต เกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพ เช่นเดียวกับกองทุนประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นกรณีเจ็บป่วย ชราภาพ ทุพพลภาพ เสียชีวิต

นายปกรณ์กล่าวต่อว่า แนวนโยบายดังกล่าวมีคณะทำงานระดับชาติ คือ คณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ซึ่งมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 9 กระทรวง หน่วยงานย่อยๆ อีกกว่า 20 หน่วยงาน ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาคประชาชน แรงงานนอกระบบทำงานร่วมกัน โดยมีกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลัก มีกำหนดประชุมวันที่ 14 ก.พ.นี้

"คณะทำงานจะเสนอให้มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพในแต่ละพื้นที่ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลนำเสนอคณะกรรมการระดับชาติ ขณะนี้มีจังหวัดนำร่องที่ตั้งกลุ่มอาชีพของแรงงานนอกระบบแล้ว 13 จังหวัด แบ่งเป็นภาคเหนือ 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน พะเยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด คือ ขอนแก่น สกลนคร ภาคกลาง 3 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ราชบุรี และภาคใต้ 3 จังหวัดคือ นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง แต่ละจังหวัดมีอาชีพแตกต่างกัน จะต้องช่วยเสนอข้อมูลให้คณะกรรมการพิจารณาวางแผนต่อไป" นายปกรณ์กล่าว

--ข่าวสด ฉบับวันที่ 14 ก.พ. 2556 (กรอบบ่าย)--อ