ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นับแต่อดีตมีหลากหลายภารกิจที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่สามารถดำเนินให้สำเร็จลุล่วง เนื่องด้วยติดขัดในเงื่อนไขที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงอาทิ การอยู่ในระบบราชการ ทำให้การขับเคลื่อนเชื่องช้าและการมีฝ่ายการเมืองครองอำนาจ ทำให้นโยบายถูกตั้งเพื่อผลทางการเมืองทำให้ความเป็นอิสระในการทำงานเท่ากับศูนย์

นำมาสู่การกำเนิดองค์กรอิสระด้านสุขภาพเพื่ออุดช่องโหว่ให้สธ.คุ้นชินกันภายใต้ชื่อเรียก"ตระกูล ส." ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) รวม 6 องค์กร โดย 5 องค์กรแรก กำเนิดขึ้นโดยมีกฎหมายเป็นของตัวเอง มีเพียง สรพ.เท่านั้นที่เป็นองค์การมหาชน ตั้งขึ้นโดยอำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.)

สิ่งที่เชื้อเชิญให้นักการเมืองอยากยึดกุมเพื่อลิ้มลองนั่นก็คืองบประมาณก้อนโต หากจำแนกเป็นตัวเลขกลมๆ จะพบว่า สปสช. มีงบบริหารและกองทุน1.5 แสนล้านบาท สสส. มี 3,000 ล้านบาท สพฉ. มี 950 ล้านบาท สช. มี300 ล้านบาท สวรส. มี 120 ล้านบาท และ สรพ. มี 100 ล้านบาท

ที่ผ่านมา องค์กรตระกูล ส. ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ใน 3 ประเด็น คือ 1.เป็นแหล่งทุนสำคัญของเอ็นจีโอ เพื่อจัดทำโครงการต่อต้านรัฐบาล2.ตรวจสอบการใช้งบประมาณไม่ได้ 3.อำนาจถูกผูกขาดในคณะกรรมการที่เป็นคนกลุ่มเดียวเวียนไปมาระหว่างองค์กรตระกูล ส. ด้วยกัน

ทว่า ตั้งแต่ยุคนายวิทยา บุรณศิริ เป็น รมว.สธ. มีความพยายามจัดอำนาจใหม่โดยชัดเจนในหลายองค์กรที่ถูกล้างบางในคณะกรรมการบริหารเดิมกระทั่งเข้าสู่ยุค นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ.คนปัจจุบัน ความพยายามเลยเถิดไปถึงการเปิดเกมรุก-เปิดหน้าชก รวบอำนาจของตระกูล ส. กลับมารวมศูนย์ไว้ที่ สธ.เพียงอย่างเดียว

ที่สุดแล้วกลายมาเป็นประเด็นร้อนในขณะนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 18 มีนาคม 2556