ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จ.สงขลา จับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางที่มีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบน สีส้ม บนแผงพิมพ์"Erimin 5 028 MADE IN JAPAN" และได้แจ้งข้อกล่าวหาฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 ไนเมตาซีแพม (nimetazepam) เนื่องจากโดยปกติยาในชื่อการค้า Erimin มีตัวยาสำคัญคือ ไนเมตาซีแพม แต่ภายหลังจากการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่าสารที่บรรจุอยู่ในเม็ดยาดังกล่าวเป็นสารฟีนาซีแพม (Phenazepam) ไม่ใช่ไนเมตาซีแพม

"ขณะนี้เริ่มมีการนำสารฟีนาซีแพมมาใช้ในทางที่ผิด และพบมีการขายทางอินเตอร์เน็ตทั้งในรูปแบบผง เม็ด สารละลาย ซึ่งผู้เสพนิยมใช้ฟีนา ซีแพมเพื่อทำให้เกิดการผ่อนคลายอารมณ์ เคลิบเคลิ้ม มีความสุข แต่เนื่องจากฟีนาซีแพมซึ่งเป็นยาในกลุ่มเบนโซไดอาซีพีน (Benzodiazepines) ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ปัจจุบันยังไม่ได้รับการยอมรับให้ใช้ในการบำบัดรักษาโรคในประเทศไทยและอีกหลายประเทศ เป็นสารที่มีความแรงสูงมากกว่าไดอาซีแพม 5-10 เท่า และเป็นยาที่ออกฤทธิ์นาน จึงพบผู้เสพหลายรายเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาด" นพ.บุญชัยกล่าว และว่า ล่าสุด ประเทศในแถบยุโรป รวมถึงบางรัฐของสหรัฐอเมริกามีการควบคุมฟีนาซีแพม สำหรับประเทศไทยคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทได้ให้ความเห็นชอบในการออกประกาศ สธ.เพื่อควบคุมฟีนา ซีแพมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ ประเภท 1 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก เว้นแต่ สธ.หรือผู้ได้รับมอบหมายจาก สธ. หากฝ่าฝืนจำคุก 5-20 ปี และปรับ 100,000-400,000 บาท นอกจากนี้ยังห้ามมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับอนุญาต รวมทั้งห้ามเสพ หากฝ่าฝืนจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท คาดว่าประกาศจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 มีนาคม 2556