ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ในที่สุดนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ก็รอดพ้นบ่วงการโจมตีเรื่องการจ่ายอัตราค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) ไปได้ เพราะม็อบชนบทที่คาดกันว่าจะมากันนับหมื่นมาเพียงแค่ไม่ถึง 1,000 คนเท่านั้น เสริมทัพด้วยการดึงผู้บริหารตั้งแต่ระดับรองปลัดอธิบดี และผู้ตรวจราชการฯ รวมเกือบ 20 คนมาโชว์ความเป็นปึกแผ่น ทำให้อนาคตการเป็นรัฐมนตรีของหมอประดิษฐ ยังดูสดใส จนดูเหมือนจะอยู่ได้อีกยาว

สืบสายไล่ราวประวัติ ก็จะพบว่า หมอประดิษฐ เข้ามาบริหารงานในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ ไม่ใช่เพราะเป็นหมอหากแต่เป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มือฉมัง มีคอนเนกชันกว้างขวาง ตั้งแต่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หรือ เศรษฐา ทวีสิน บอสใหญ่ของเครือแสนสิริ ก็เคยทำงานด้วยกันในที่สุด ยิ่งลักษณ์ จึงขอร้องให้เข้ามาช่วยบริหารงานใน สธ. ให้อยู่ในคอนโทรลมากขึ้นโดยใช้ทักษะนักธุรกิจมาช่วยบริหาร

ยิ่งได้ข้าราชการมือดีอย่าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ มาเป็นปลัดคู่ใจ งานก็เดินหน้าไปแบบรวดเร็ว หลังรับตำแหน่งได้ยังไม่ถึง 5 เดือน ก็ประกาศกร้าวว่าจะปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป้าแรกได้แก่ การจัดระเบียบองค์กรอิสระในสังกัด สธ.ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้เข้ามาอยู่ใต้อาณัติมากขึ้น และรวบอำนาจผ่านคณะรัฐมนตรีสุขภาพ ที่จะตั้งขึ้นใหม่ ภายใต้ชื่อคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) โดยข้อเสนอของบอร์ดทุกตระกูล ส. ต้องผ่านคสช.ชุดใหม่ โดยจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการและมีหมอประดิษฐนั่งเป็นเลขานุการเอง

นอกจากนี้ ยังลดบทบาทตระกูล ส. หลายแห่ง โดยให้โอนภารกิจหลักกลับมาที่ สธ.ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่ให้เหลือเพียงการดูแลมาตรฐานเท่านั้น ขณะที่ศูนย์รับแจ้งเหตุ สพฉ.ภายใต้หมายเลข 1669 กระทรวงจะกลับไปดูเอง รวมถึงยังมีการเสนอให้เปลี่ยนสัญลักษณ์สพฉ. บนรถพยาบาลทุกคัน หรืออย่าง สปสช.ก็มีความพยายามส่งรองเลขาธิการเข้าไป 2 ตำแหน่ง โดยเปิดรับคนนอก ซึ่งมีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมืองเข้าไป โดยที่ภาคประชาชนในทุกองค์กรเหล่านี้ไม่ทันตั้งตัว

ตามมาด้วยการเปิดศึกกับกลุ่มแพทย์ชนบทด้วยการเปลี่ยนรูปแบบจากการจ่ายเบี้ยทุรกันดารที่เคยได้รับกันล่ำซำ มาสู่การจ่ายแบบ P4P ซึ่งกลุ่มแพทย์ชนบทในโรงพยาบาลชุมชนอ้างว่าจะทำให้แพทย์ชนบทได้รับค่าตอบแทนลดลงและย้ายไปทำงานกับโรงพยาบาลเอกชนที่ค่าตอบแทนสูงกว่ามากแทน นำไปสู่การเปิดศึกไล่รัฐมนตรีอย่างที่เห็นวานนี้ แต่หมอประดิษฐก็ยังเหนียวแน่น เพราะงบประมาณกว่าแสนล้านได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างสะดวกโยธิน

กลายเป็นสงครามที่ฟาดฟันกับแพทย์ชนบทรวมถึงอดีตแพทย์ชนบท ซึ่งยังมีอำนาจปกคลุมอยู่ในองค์กรตระกูล ส. อย่าง นพ.วิชัย โชควิวัฒน หรือ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งกันตรงๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กลายเป็นว่า "ประดิษฐสไตล์" กระทบทั้งเครือข่ายอำนาจเก่า ตัดภาคประชาชนออกจากสธ. และที่สำคัญที่สุดคือ ตัดแพทย์ชนบททั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ออกจาก สธ.ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น เป้าหมายต่อไปอย่างการปฏิรูปกระทรวงก็คือการจัดภารกิจของแต่ละกรมใหม่ โดยแบ่งเป็นกรมจัดทำมาตรฐาน กรมที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพ และกรมที่ทำหน้าที่สนับสนุน โดยรวมเอาตระกูล ส. ต่างๆ เข้าไปในชาร์ตเหล่านี้ด้วย ขณะที่ผู้ตรวจราชการก็จะได้รับบทบาทใหม่ โดยมีอำนาจดูแลเขตสุขภาพหรือเป็น "อธิบดีเขต" รวม 3-4 จังหวัดเข้าด้วยกัน ดูแลตั้งแต่ค่าเหมาจ่ายรายหัวทั้งหมดเพื่อจ่ายให้โรงพยาบาลมีอำนาจแม้กระทั่งการจัดซื้อยาร่วมและแชร์ทรัพยากรภายในเขตสุขภาพด้วยซ้ำ โดยขีดเดดไลน์ไว้ว่าจะให้เสร็จทั้งหมดภายใน 1 ต.ค.นี้

การปฏิรูปของหมอประดิษฐ เริ่มสร้างความตะขิดตะขวงให้กับผู้บริหารบางกรมแล้ว เพราะจากเดิมเคยมีอำนาจเป็นหน่วยบริการด้วย แต่สุดท้ายโครงสร้างใหม่กลับให้บทบาทเป็นเพียงกรมที่ดูแลด้านวิชาการหรือมาตรฐานเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ทีมคลังสมองของหมอประดิษฐมีอยู่ไม่กี่คน แม้แต่หมอทั้งหลายในกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม และไม่รู้อนาคตของตัวเองว่าจะอยู่ในจุดใด

แม้ในวันนี้ แบ็กของ นพ.ประดิษฐ จะเข้มแข็งด้วยคอนเนกชันกับยิ่งลักษณ์ ขณะที่ความสัมพันธ์ภายใน สธ. ระหว่างฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำยังคงเหนียวแน่น แต่ในอนาคตยังคงคลุมเครือ

สิ่งที่เห็นชัดวันนั้นจนถึงวันนี้ ปฏิกิริยาของแพทย์ชนบทเริ่มเห็นชัดเจน และเริ่มทำให้คนนิ่มๆ อย่างหมอประดิษฐ ต้องถามกลับถึงวาระซ่อนเร้นของกลุ่มแพทย์ชนบทแล้ว ทว่าก้าวต่อไปของแพทย์ชนบทก็ยิ่งน่าจับตา เพราะวันนี้หนึ่งในแกนนำออกมาระบุแล้วว่า หากยังดื้อดึงไม่ฟังเสียงคัดค้านต่อไป จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง รวมถึงเรียกแนวร่วมออกมามากขึ้น

ต้องไม่ลืมว่า ผู้บริหาร สธ.หลายคนก็มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มแพทย์ชนบท เพราะวงการหมอส่วนใหญ่นับถือเป็นพี่น้องกัน

แน่นอนว่าคลื่นใต้น้ำลูกต่อไปกำลังก่อตัวเงียบๆ ภายใน สธ.เอง และอาจพัฒนาเป็นคลื่นลูกใหญ่ในอนาคตหากยังเดินหน้าปฏิรูปโดยคิดแต่เพียงว่าตัวเองมีอำนาจเต็ม ไม่สนใจเสียงใคร

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 27 มีนาคม 2556