ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ลงนามในจดหมายเปิดผนึกคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)เรื่อง สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคมเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.... สภาผู้แทนราษฎร

คปก.มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการมีมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคมที่เสนอโดยประชาชนว่า สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ2540 ที่มีความมุ่งหมายให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ให้ความสำคัญเช่นกัน จึงได้กำหนดให้เป็นหมวด 7 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน โดยได้กำหนดให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าชี้แจงหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยประชาชนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยและได้กำหนดเงื่อนไขเพียงว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยประชาชนต้องเป็นร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ดังนั้นสิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายย่อมมีผลผูกพันการใช้อำนาจในการตรากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรการไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน ไม่เพียงแต่เป็นการปฏิเสธสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางการเมืองโดยตรงของประชาชนเท่านั้น ยังเป็นการใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่อาจไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอีกด้วยทั้งนี้หากพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมที่เสนอโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264คน พบว่า มีหลักการและสาระสำคัญเป็นการการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมแก่คนทำงานที่มีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง การปรับปรุงและพัฒนาการบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีความเป็นอิสระ มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ มีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง เป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ต้องการปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมเพื่อให้สมประโยชน์แก่ประชาชนผู้เข้าสู่ระบบประกันสังคมซึ่งรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรให้การสนับสนุนความริเริ่มสร้างสรรค์ของประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายที่สามารถสะท้อนความต้องการเพื่อให้สถาบันรัฐสภารับรู้และสามารถออกกฎหมายได้ตรงกับสภาพปัญหาที่แท้จริง

คปก.เห็นว่า แม้ว่าร่างกฎหมายประกันสังคมที่เสนอโดยรัฐบาลร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ด้วยกระบวนพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรที่มีขั้นตอนในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญสามารถเปิดโอกาสให้ความเห็นที่แตกต่างกันสามารถถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างสร้างสรรค์และโดยสันติบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประชาชน ถือเป็นวิถีประชาธิปไตยที่ยึดถือปฏิบัติกันเสมอมา ด้วยเหตุดังกล่าวการมีมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน จึงเป็นการปิดกั้นโอกาสไม่ให้ผู้แทนประชาชนได้เสนอเหตุผลเพื่อหาข้อสรุปที่ยอมรับกันได้ในการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนให้มากที่สุด

ดังนั้น คปก.จึงเห็นว่า เมื่อรัฐธรรมนูญได้รับรองให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด ย่อมแสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนของสภาผู้แทนราษฎรอย่างยิ่งยวด ดังนั้นการพิจารณาลงมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เข้าชื่อโดยประชาชนที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 163 อาจทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และอาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือต่อสถาบันรัฐสภาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

อนึ่ง การประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 ปีที่ 2 ครั้งที่ 23-24 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ )เมื่อวันที่ 20 และวันที่21 มีนาคม2556 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมจำนวน 4ฉบับ และลงมติในวาระที่ 1 ไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน และนายนคร มาฉิม กับคณะ ดังนั้นจึงถือว่าร่างพระราชบัญญัติทั้ง2 ฉบับดังกล่าวเป็นอันตกไปทั้งที่แนวทางการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาจะมีมติรับหลักการร่างกฎหมายรวมกันทุกฉบับโดยให้ถือเอาร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก