ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

พลันที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข มอบหมายให้ นายกมล บันไดเพชร เลขานุการ รมว.สาธารณสุข ไปยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2556 ให้ตรวจสอบความล่าช้าของโครงการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกในระดับอุตสาหกรรม ตามมาตรฐานจีเอ็มพี ขององค์การอนามัยโลก บนเนื้อที่ 80 ไร่ ณ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ส่งผลให้หลายคนอยากรู้ที่มาที่ไปในเรื่องนี้ "XRAY สุขภาพ"  จึงขอลำดับเหตุการณ์จากเอกสารที่พอหาได้มานำเสนอให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน

เริ่มจากวันที่ 22 พ.ค. 2550  กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอของบประมาณ 1,411.70 ล้านบาท และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก

ในปี 2551 อภ.ได้ยื่นขออนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน (วัคซีน) กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

12 พ.ค. 2551  อภ.ทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด4 อาคาร 4 บริษัท คือ 1.อาคารผลิตวงเงิน 2,499,000 บาท 2.อาคารบรรจุ วงเงิน 2,040,000 บาท 3.อาคารประกันคุณภาพและสัตว์ทดลอง วงเงิน 2,107,900 บาท และ 4.อาคารระบบสนับสนุนส่วนกลาง ไฟฟ้า น้ำ สุขาภิบาล ซ่อมบำรุงและอื่น ๆ วงเงิน 2,253,271.03 บาท โดยที่ปรึกษาจะลงมือทำงานภายในวันที่ 13 พ.ค. ดำเนินการออกแบบให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ครบกำหนดวันที่ 11 ก.ค.

28 ส.ค. 2552  เวลา 10.00 น. มีพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้าง โดยนายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน

18 ก.ย. 2552 อภ.ทำสัญญาจ้างก่อสร้าง ส่วนที่ 1 อาคารผลิต อาคารบรรจุ อาคารประกันคุณภาพและสัตว์ทดลอง กับบริษัทแรก (บริษัทมีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท) วงเงิน 321 ล้านบาท เนื่องจากเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ข้อเสนอทางเทคนิคเหมาะสม และเป็นผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว ส่วนที่ 2 อาคารระบบสนับสนุนส่วนกลาง อภ.ทำสัญญาจ้างก่อสร้างกับบริษัทที่ 2 (บริษัทมีทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท) วงเงิน 106,786,000 บาท โดยทั้ง 2 บริษัทต้องทำงานให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายใน 540 วัน

17 ธ.ค. 2552  อภ.ทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง ควบคุมการติดตั้งเครื่องจักร ควบคุมการตรวจสอบความถูกต้องและจัดทำเอกสาร Validation Master Plan (VMP) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วงเงิน 50 ล้านบาท

29 พ.ย. 2553  อภ.ทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาอีกครั้งเพื่อจัดทำเอกสาร VMP และควบคุมการติดตั้งเครื่องจักรกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วงเงิน 42.8 ล้านบาท

ทั้งนี้ทางตัวแทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเรื่องร้องเรียนด้านสาธารณสุข ที่มี นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ เป็นประธาน ถึงเหตุผลที่ต้องยกเลิกสัญญาเนื่องจากบริษัทสัญชาติเกาหลีที่เป็นบริษัทร่วมค้ากับหน่วยงานได้ถอนตัว ทำให้หน่วยงานไม่สามารถปฏิบัติตามข้อสัญญาที่กำหนดได้ จึงเป็นเหตุให้ อภ.บอกเลิกสัญญาเพราะฉะนั้นหน่วยงานจึงไม่ได้รับชำระเงินค่าจ้างดำเนินการเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงงานวัคซีน

17 ก.ย. 2553  มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างก่อสร้างส่วนที่ 1 อภ.และบริษัทตกลงเปลี่ยนแปลงแก้ไขงวดงานและการจ่ายเงินทั้งหมดโดยไม่มีการเพิ่มหรือลดค่าจ้าง

27 ก.ย. 2553 มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างก่อสร้างส่วนที่ 2

ในปี 2553 นี้ อภ.ยังได้ยื่นขอเปลี่ยน แปลงรายละเอียดเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงงานกับทาง อย. ด้วย

28 เม.ย. 2554  มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างก่อสร้างส่วนที่ 2 ดังนี้ 1. เปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบฐานรากอาคารระบบสนับสนุนส่วนกลางและทางเดินเชื่อมจากฐานแผ่วางบนดินเป็นแบบผสมผสานระหว่างฐานรากใช้เสาเข็มเจาะแบบ Full Casing 2. เปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบโดยให้ยกระดับความสูงอาคารจากเดิมระดับพื้นชั้นล่าง  +0.60 เมตร จากระดับดินถมให้ยกระดับสูงขึ้นอีก 1.60 เมตรเป็น +2.20 เมตร 3. ในการแก้ไขแบบดังกล่าวคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายตกลงเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 2,333,134.03 บาท และตกลงเพิ่มหรือขยายเวลาก่อสร้างตามสัญญาอีก 90 วัน

29 เม.ย. 2554 แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างก่อสร้างส่วนที่ 1 ดังนี้ 1. เปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบฐานรากทุกอาคารจากฐานแผ่วางบนดินเป็นแบบใช้เข็มเจาะแบบ Full Casing ยกเว้นอาคารผลิตให้เป็นแบบผสมผสานระหว่างฐานรากใช้เสาเข็มเจาะแบบ Full Casing และฐานรากแผ่วางบนหินบางส่วน 2. เปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบโดยให้ยกระดับความสูงอาคารจากเดิมระดับพื้นชั้นล่าง 0.60 เมตร จากระดับดินถมให้ยกระดับสูงขึ้นอีก 1.60 เมตรเป็นระดับ 2.20 เมตร 3. ในการแก้ไขแบบดังกล่าวคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายตกลงเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 3,945,039.11 บาท และตกลงเพิ่มหรือขยายเวลาก่อสร้างอีก 136 วัน

อนึ่งในปี 2554 อภ.ได้มีการยื่นขอปรับเปลี่ยนมาตรฐานห้องชีวภาพจากระดับ 2 เป็นระดับ 2 บวกกับทาง อย.เพื่อให้โรงงานนี้ผลิตได้ทั้งวัคซีนที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพีขององค์การอนามัยโลก และรองรับกรณีเกิดการระบาดใหญ่

20 ม.ค. 2555  อภ.แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างก่อสร้างส่วนที่ 2 ขยายระยะเวลาสัญญาให้แก่ผู้รับจ้างเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยเป็นเวลา 40 วัน และขยายระยะเวลาเพื่อดำเนินการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดเป็นเวลา 60 วันรวม 100 วัน

4 พ.ค. 2555 มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างก่อสร้างส่วนที่ 1 โดยเปลี่ยนแปลงรายละเอียด งวดงาน และการจ่ายเงิน

21 พ.ค. 2555 แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างก่อสร้างส่วนที่ 2 โดยตกลงเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดงวดงานและการจ่ายเงิน

28 พ.ย. 2555  แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างก่อสร้างส่วนที่ 2 โดยขยายระยะเวลาการก่อสร้างเป็น 450 วัน

3 ธ.ค. 2555  มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างก่อสร้างส่วนที่ 1 โดยขยายระยะเวลาก่อสร้างเป็นเวลา 400 วัน

จากลำดับเหตุการณ์ทั้งหมด พอสรุปสาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้ามีดังนี้ 1.การเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบจากฐานแผ่เป็นเข็มเจาะ และยกระดับความสูงอาคาร ขยายเวลา 136 วัน 2.เหตุอุทกภัย ขยายเวลา 100 วัน 3.การทบทวนการออกแบบ (Design Review) ใช้ระยะเวลา 400 วัน โดยสาเหตุความจำเป็นส่วนหนึ่งมาจากการปรับเปลี่ยนมาตรฐานห้องชีวภาพ จากระดับ 2 เป็นระดับ 2 บวกจึงต้องใช้เวลาและขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

ณ ปัจจุบันทาง อภ.กำลังเจรจากับบริษัทก่อสร้างเจ้าเดิมเรื่องงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากการทบทวนการออกแบบ หากตกลงกันได้จะนำเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข เพื่อขออนุมัติงบประมาณจาก ครม. ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาก่อสร้างอีก 18 เดือน แต่ถ้าไม่สามารถตกลงราคากันได้ อภ.คงต้องยกเลิกสัญญากับบริษัท โดยคณะกรรมการตรวจการจ้างนำเสนอต่อบอร์ด อภ.พิจารณาและจัดหาบริษัทก่อสร้างรายใหม่ต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 เมษายน 2556