ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ทันทีที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศเดินหน้านโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือ พีฟอร์พี (P4P : Pay for Performance) โดยยืนยันถึงเหตุผลของการปรับปรุงการจ่ายค่าตอบแทน บุคลากรทางการแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ว่า จะทำให้ระบบสุขภาพของประเทศไทยพัฒนาขึ้น  โดยเฉพาะจากการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ที่นำเอาการเก็บคะแนนจากผลการปฏิบัติงานมาเป็นตัวชี้วัด และคำนวณเป็นจำนวนเงินเพื่อจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงานเฉลี่ยภาระหน้าที่ระหว่างกันมากขึ้น แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทน เนื่องจากทุกวันนี้ใครจะทำงานมากหรือทำงานน้อย เมื่อถึงสิ้นเดือนก็ได้ค่าตอบแทนในส่วนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเท่ากันหมด

แม้ว่า นโยบายพีฟอร์พี จะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และเริ่มทดลองใช้ในระยะที่ 1 มาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมาแล้ว ทว่าทางฝ่ายผู้ปฏิบัติงานซึ่งถือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งกลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรรม พยาบาล เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน โดยมีชมรมแพทย์ชนบทเป็นแกนหลัก ยังคงเดินหน้าคัดค้านนโยบายดังกล่าวอย่างเข้มข้นไม่แพ้กัน

ทั้งนี้ เหตุผลหลักของการคัดค้านพีฟอร์พี ของฝั่งชมรมแพทย์ชนบท มีหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยุ่งยากในการเก็บคะแนนตามผลการปฏิบัติงาน ซึ่งส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าลักษณะของวิชาชีพตรวจรักษาผู้ป่วย มีขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและความคาดหวังของผู้ป่วยแต่ละคน จึงไม่สามารถเอาตัวชี้วัดที่เป็นลักษณะสำเร็จรูป เช่น จำนวนผู้ป่วยที่ตรวจรักษาในแต่ละวัน หรือระยะเวลาที่ใช้ตรวจรักษา มาเป็นตัวกำหนดได้  อย่างไรก็ตามแม้ว่าผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน ซึ่งเชื่อมโยงกับการเก็บคะแนน จะยังคงต้องพัฒนาระบบให้สอดรับกับบริบทของแต่ละโรงพยาบาล แต่อีกแง่มุมหนึ่ง ประเด็นเรื่องการเน้นปฏิบัติงานแบบล่าแต้ม ที่หลายคนกังวลก็ยังคงมีระบบ คัดกรอง เพื่อป้องกันปัญหาด้านจริยธรรมอยู่ด้วย

นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยสำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ บอกถึงความกังวลว่าหลังจากการปรับค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย โดยจ่ายตามผลการปฏิบัติงานนั้น จะทำให้แพทย์เน้นทำคะแนนเพื่อมาแลกค่าตอบแทน มากกว่าการคำนึงถึงคุณภาพการรักษา ซึ่งในประเด็นนี้  จริงๆ แล้วการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน ยังคงมีกติกาของการปฏิบัติงานและภาระหน้าที่คลุมอยู่ นอกจากนั้นยังมีคณะกรรมการของโรงพยาบาล ทำหน้าที่ดูแลในเรื่องของประสิทธิภาพการรักษาอยู่ด้วย ดังนั้นเน้นรักษาหรือทำเฉพาะที่ได้คะแนน จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายหรือหากเกิดขึ้น ก็จะสามารถตรวจสอบได้ด้วยระบบของมันเอง

"การเก็บคะแนนที่หลายคนกังวลว่า บริบทของโรงพยาบาลแต่ละแห่งแตกต่างกันนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องยาก เพราะตอนนี้โรงพยาบาลแต่ละแห่งก็เก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ในระบบไอทีอยู่แล้ว สามารถนำมาแปลงเป็นคะแนนได้ทันที ถ้าหันหน้าคุยกันด้วยเหตุผล น่าจะตกลงแนวทางร่วมกันได้" นพ.ขวัญประชา กล่าว ขณะเดียวกัน เรื่องของจำนวนเงินค่าตอบแทนที่จะต้องถูกปรับลดลง ตามระยะเวลาทดลองระบบ ที่กระทรวงสาธารณสุขแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ซึ่งเชื่อมโยงกับการปรับพื้นที่โรงพยาบาล คือ ระยะที่ 1 โรงพยาบาลชุมชนเมือง พื้นที่ปกติจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายลดลง 5,000 บาท และ ระยะที่ 2 โรงพยาบาลชุมชนเมืองลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทั้งหมด ส่วนพื้นที่ปกติทุกขนาดปรับลดลง 50% โดยจำนวนเงินที่หายไปให้นำเอาระบบพีฟอร์พีเข้ามาทดแทน จึงส่งผลให้ กลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรรม พยาบาล เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ทยอยออกแถลงการณ์โจมตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ต้นเรื่องผลักดันการปรับเปลี่ยน การจ่ายค่าตอบแทนในครั้งนี้  เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล เห็นว่า การปรับพื้นที่โรงพยาบาล ตามระเบียบใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข จะมีการปรับคำจำกัดความเป็นโรงพยาบาลพื้นที่ชุมชนเมือง  โรงพยาบาลพื้นที่ปกติ โรงพยาบาลพื้นที่เฉพาะ ระดับ 1 ระดับ 2 เป็นความพยายามปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่จริงในปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมากว่า 10 ปี ทางกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้ทำการปรับพื้นที่เลย ทั้งที่ตามระเบียบของกระทรวงการคลังกำหนดให้ปรับปรุงพื้นที่ทุก 2 ปี ทำให้ปัจจุบันเกิดปัญหาการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้โรงพยาบาลบางพื้นที่ซึ่งมีสภาพที่พัฒนาไปแล้วแต่ก็ยังได้ค่าตอบแทนส่วนนี้อยู่

ในขณะที่บ้างโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่เดิม แต่ถูกยกเป็นจังหวัด คำว่าโรงพยาบาลชุมชนจึงหายไป เช่น โรงพยาบาลบึงกาฬ ซึ่งเดิมเป็นโรงพยาบาลชุมชน แต่พอ อ.บึงกาฬ ยกระดับเป็นจังหวัด ความเป็นโรงพยาบาลชุมชนจึงหายไป ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดของกฎระเบียบที่ทำให้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ดังนั้นความพยายามปรับปรุงพื้นที่โรงพยาบาลในครั้งนี้ จึงพยายามทำให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น  "ครั้งนี้เป็นการปรับเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนที่พื้นที่พัฒนาแล้ว แต่โรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกลและอยู่อาศัยอยากลำบากไม่ได้ถูกตัดเลย เช่น พื้นที่เฉพาะในระดับ 2 เพราะว่าแม้แพทย์และบุคลากรอื่นๆ ในโรงพยาบาลเหล่านี้ จะมีภาระงานหนักหรือไม่หนักก็ตาม แต่รัฐก็จะต้องให้ค่าตอบแทนเพื่อจูงใจ ให้อยู่เตรียมพร้อมรักษาประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว ดังนั้นเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าในพื้นที่ชนบทห่างไกล และอยู่ยากนั้นไม่กระทบเลย" ดร.กฤษดา กล่าว

เธอบอกว่า สำหรับโรงพยาบาลชุมชนเมืองที่จะได้รับผลกระทบ จากการปรับพื้นที่ใหม่นั้น หากดูในแง่ของปริมาณภาระงานและความรับผิดชอบ ทั้งกลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรวิชาชีพทั้งหมดในโรงพยาบาล จะเห็นว่าทุกวันนี้ทำงานหนักกันมากอยู่แล้ว ดังนั้นแม้ค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายถูกปรับลง แต่ด้วยภาระงานที่มากอยู่แล้ว เมื่อเปลี่ยนเป็นจ่ายตามผลการปฏิบัติงานจึงไม่น่าจะเกิดผลกระทบ

แต่สำหรับ นพ.รอซาลี ปัตยะบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา แพทย์ดีเด่นศิริราชพยาบาล หนึ่งในผู้คัดค้านนโยบายพีฟอร์พี บอกว่า แม้โรงพยาบาลรามันจะอยู่ในพื้นที่กันดารซึ่งไม่ถูกตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่ และยังได้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามภาระงานก็ตาม แต่เขารู้สึกว่ารัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กำลังสับสนระหว่างการกระจายตัวของแพทย์ และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งการกระจายตัวของแพทย์ในพื้นที่ห่างไกลนั้น จำเป็นต้องมีแรงจูงใจให้แพทย์ได้ไปทำงานในพื้นที่ เนื่องจากมีการแข่งขันกับภาคเอกชน

สำหรับตัวเขาเองแม้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจะเป็นเงินกินเปล่า แต่ก็ถือเป็นแรงจูงใจให้แพทย์ทำงานในชนบทได้นานขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ยังเป็นค่าตอบแทนสำหรับการสูญเสียโอกาสต่างๆ ซึ่งต่างจากแพทย์ที่ทำงานในเมือง ที่มีโอกาสไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนหลังเวลาราชการ

เขาบอกว่า แต่ภายหลังที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในบางพื้นที่ จากตามพื้นที่มาเป็นตามภาระงานนั้น ทำให้โรงพยาบาลรามันได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีสูตินารีแพทย์ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางมาขอย้ายกลับเข้าไปทำงานในตัวเมือง เนื่องจากไม่มั่นใจในความมั่นคงในหน้าที่การงานหลังจากกระทรวงสาธารณสุข ประกาศปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามภาระงาน ซึ่งตอนนี้เขากำลังพิจารณาคำขอย้ายของแพทย์ดังกล่าว แต่หากไม่มีแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลชุมชนก็จะส่งกระทบต่อการให้บริการอย่างมาก โดยเฉพาะการผ่าตัดทำคลอดซึ่งต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทาง จากเดิมประชาชนในพื้นที่ต้องเดินทางด้วยระยะทางไกลเข้าไปในตัวเมืองเพื่อคลอดลูก

"โรงพยาบาลรามัน เป็นโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง ก่อนที่จะมีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้กับแพทย์ที่โรงพยาบาล มีแพทย์เพียงแค่ 2 คนเท่านั้น แต่หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย สำหรับแพทย์ที่ทำงานในพื้นที่ห่างไกล ทำให้มีแพทย์มาทำงานที่โรงพยาบาลมากถึง 8 คน ซึ่งช่วยทำให้การรักษาและดูแลประชาชนในระดับปฐมภูมิดีขึ้น" นพ.รอซาลี กล่าวทิ้งท้าย

'โรงพยาบาลแต่ละแห่งเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ในระบบไอทีอยู่แล้ว สามารถนามาแปลงเป็นคะแนนได้ทันที

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 เมษายน 2556