ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รพ.กรุงเทพฯเตรียมเปิดแบรนด์ใหม่ รองรับคนไข้ระดับกลางและประกันสังคม 9 ล้านราย นำร่อง 3 แห่ง "ภูเก็ต พัทยา ระยอง" คาดใช้งบลงทุนต่ำเพียง 300-500 ล้านบาท เพราะใช้แพทย์และเครื่องมือร่วมกับรพ. ในเครือในพื้นที่เดียวกัน คาดปีหน้าขยายเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) เจ้าของเครือโรงพยาบาลกรุง ซึ่งเป็น เครือข่ายโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดของไทย เดินหน้าขยายบริการด้านการแพทย์ โดยมีเป้าหมายคนไข้ในระบบประกันสังคมที่มี อยู่ราว 9 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ เครือโรงพยาบาลกรุงเทเพิ่มกลุ่มคนไข้ มากยิ่งขึ้น

นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ

นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ บริหารบริษัท กรุงเทพดุสิต เวชการ(BGH) กล่าวว่าบริษัทมีแผนจะเปิดแบรนด์ใหม่ เจาะกลุ่มคนไข้ระดับกลางในประเทศ เพื่อรองรับความต้องการคนไข้ที่ใช้ระบบประกันสังคมซึ่ง มีอยู่ประมาณ 9 ล้านคน โดยจะพยายามเปิดในพื้นที่ที่มีโรงพยาบาลในเครืออยู่แล้ว เพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือและบุคลากรแพทย์ร่วมกันได้

ในปีนี้ ตั้งเป้าจะเปิดใน 3 พื้นที่ คือ ภูเก็ต ระยอง และพัทยา ขนาดแห่งละ 59 เตียง คาดว่างบลงทุนประมาณ 2-3 ล้านต่อเตียงบาท หรือ 118-177 ล้านบาทต่อแห่ง หรือรวม 3 แห่ง 354-531 ล้านบาท ถูกกว่าโรงพยาบาลระดับบนที่มีต้นทุนลงทุนประมาณ 10 ล้านบาทต่อเตียง

"รพ.ขนาดกลางจะสร้างใหม่ ในมาตรฐานใกล้เคียงกับรพ.เปาโลที่สามารถรองรับคนไข้ประกันสังคมได้ ซึ่งจะอยู่ภายใต้แบรนด์ใหม่ แต่ให้รับรู้ว่าอยู่ในเครือรพ.กรุงเทพ โดยให้นโยบายการดำเนินงานไป 3 ข้อคือ 1. คุณภาพการรักษาต้องดี เพราะใช้แพทย์และเครื่องมือร่วมกับรพ.กรุงเทพในพื้นที่นั้น 2.รวดเร็วกว่าโรงพยาบาลของรัฐ และ 3.ราคาประหยัด"

แม้ว่าโรงพยาบาลระดับกลางอัตราการทำกำไรจะน้อยกว่าโรงพยาบาลระดับบน แต่ต้นทุนลงทุนโดยเฉพาะเครื่องมือทางการแพทย์ และแพทย์จะถูกลง เพราะใช้ศักยภาพจากที่เครือโรงพยาบาลกรุงเทพมีอยู่ และหากมีเคสที่ยากขึ้น ก็สามารถส่งต่อให้โรงพยาบาลกรุงเทพได้

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะเปิดโรงพยาบาลที่เยาวราช ขนาด 59 เตียง เพื่อรองรับคนจีนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งมีจำนวนมาก คาดว่าจะเปิดให้ทันภายในตรุษจีนปีหน้า

นอกจากนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงพยาบาลในเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลประจำภูมิภาคขนาด 200 เตียง คาดว่าจะเปิดดำเนินการต้นปีหน้า ส่วนโรงพยาบาล กรุงธน ขนาด 150 เตียงจะเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาล สมิติเวช ธนบุรี เปิดดำเนินการในวันที่ 1 ก.พ.นี้

"บริษัทจะพยายามลงทุนขยายเครือข่ายในประเทศให้เต็มศักยภาพก่อนที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะมองว่าหลังประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี นักท่องเที่ยวมีโอกาสเดินทางมาไทยมากกว่าประเทศอื่น คาดว่าภายในปีหน้าจะขยายเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ"

นายแพทย์ปราเสริฐ กล่าวต่อว่า ในปี2556 นี้บริษัท มีแนวโน้มจ่ายเงินปันผลประจำปีเพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่มีการจ่ายในอัตรา 1.80 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่า 2.78 พันล้านบาท เนื่องจากประเมินว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่าน

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2555 มีกำไรสุทธิ 7.93 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 81%จากปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากการบันทึกกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ที่บริษัทถืออยู่ 23.88% ประมาณ 1.7 พันล้านบาท เนื่องจากราคาหุ้นที่ซื้อมาเฉลี่ยอยู่ที่ 50 บาทต่อหุ้น แต่ราคาปรับขึ้นเป็น 80 บาทต่อหุ้น

"แม้ว่าบริษัทจะมีกำไรจากราคาหุ้นรพ.บำรุงราษฎร์ แต่บริษัทก็ไม่มีนโยบายที่จะขายหุ้นออก เพราะแนวโน้มการทำกำไรยังดี ขณะเดียวกันก็ไม่มีนโยบายที่จะซื้อหุ้นเพิ่ม เนื่องจากหากซื้อเพิ่มจะต้องคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นทั่วไป หรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ซึ่งยุ่งยาก การถือหุ้นที่ระดับ 23.88% ถือว่าเหมาะสมแล้ว ที่สำคัญการทำธุรกิจสมัยใหม่ ไม่ต้องการอยู่คนเดียว ไม่จำเป็นต้องฆ่าคู่ต่อสู้ แต่ต้องการมีเพื่อน"

ปัจจุบันในเครือมีโรงพยาบาลที่เปิดดำเนินการ 30 แห่ง มีจำนวนเตียง 5.45 พันเตียง มีอัตราการทำกำไรอยู่ที่ 13.4%

กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) สิ้นปี 2555 อยู่ที่ 8.63 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.75 แสนล้านบาท คิดเป็นอันดับ 3 ของกิจการโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ ณ สิ้นเดือนมี.ค.มาร์เก็ตแคปของบริษัท ทะลุ 2 แสนล้านบาทแล้ว ซึ่งเชื่อว่ามาร์เก็ตแคปจะสามารถแตะระดับ 3แสนล้านบาทได้ แต่ไม่ได้ตั้งเป้าระยะเวลาว่าเมื่อใด

นายแพทย์ปราเสริฐกล่าวต่อว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นวานนี้ (18 เม.ย.) ได้อนุมัติให้บริษัทเข้าซื้อกิจการ บริษัท สหแพทย์เภสัช ซึ่งทำธุรกิจผลิตยา ครีม และเจล ด้วยการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มเติม 1.9 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 218.6 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเข้าถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 50%จากปัจจุบันที่ถืออยู่ 49%

นอกจากนี้ยังอนุมัติขยายเวลาการออกหุ้นสามัญ เพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป จำนวนไม่เกิน 154.5 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพราะบริษัทอาจมีความจำเป็นต้องระดมทุนในอนาคต โดยจัดสรรให้กับประชาชนทั่วไปไม่เกิน 77.22 ล้านหุ้น หรือ 5%ของทุนที่ชำระแล้ว และจัดสรรในจำนวนเดียวกันให้กับบุคคลในวงจำกัด (พีพี) และให้อำนาจคณะกรรมการในการกำหนดวัตถุประสงค์ ราคา วันเวลาเสนอขายได้ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่จัดสรรให้กับบุคคลที่มีความเกี่ยวโยงกัน และดำเนินการก่อนการประชุมสามัญประจำปีในปีหน้า

ราคาหุ้นโรงพยาบาลกรุงเทพฯ วานนี้ (18 เม.ย.) ปิดตลาดที่ระดับ 160 บาท ลดลง 1 บาท หรือ 0.62% มีมูลค่าการซื้อขาย 218.08 ล้านบาท

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 เมษายน 2556