ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ตามที่ "เดลินิวส์" นำเสนอข่าวโรงงานเภสัชกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร (รภท.ศอพท.) ตรวจพบการปนเปื้อนวัตถุดิบพาราเซตามอลจากประเทศจีนหลายลอตก่อนจะนำไปผลิตยาจึงได้ส่งคืนวัตถุดิบทั้งหมดให้กับผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทย คือ หจก.พ. (ขอสงวนชื่อจริง) ไม่ได้มีการนำมาผลิต ขณะเดียวกันทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้สำรองวัตถุดิบเอาไว้ 148 ตัน  โดยซื้อจาก หจก.พ.เช่นกัน  ในจำนวนนี้ได้แบ่งจำหน่ายให้กับ รภท.ศอพท. 10 ตัน จาก ลอตแรกที่มีการนำเข้ามาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2554 จำนวน 48 ตัน อย่างไรก็ตาม รภท.ศอพท. ตรวจพบปัญหาทางกายภาพที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในขั้นตอนการตรวจรับวัตถุดิบจึงได้ส่งคืนวัตถุดิบไม่นำมาผลิตยาเช่นกัน  เมื่อมีการนำเสนอข่าวในเรื่องนี้  อภ.ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจเจรจากับบริษัทในประเทศจีนจนยอมรับคืนวัตถุดิบ 148 ตัน มูลค่า 23 ล้านบาท โดยจะมีการส่งคืนภายหลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ  (ดีเอสไอ) เข้าไปตรวจสอบแล้ว

ประเด็นที่หลายคนยังไม่รู้คือ  ระหว่างปี 2554-2555 ก่อนมีข่าวเรื่องนี้ทาง หจก.พ. ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทยนำเข้าวัตถุดิบมาทั้งหมดกี่ตัน ขายให้ใครบ้าง และมีปัญหากี่ตัน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) มีคำตอบ

นพ.บุญชัย กล่าวว่า จริง ๆ  หจก.ดังกล่าวก็นำเข้าวัตถุดิบมาโดยตลอด เพราะเป็นธุรกิจเขา แต่ว่าในช่วงเดือน ม.ค. 2554-ก.ย.2555  ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเดียวกับที่มีเรื่อง หจก.นี้นำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด 97 รุ่น ขายให้กับ อภ.และ รภท.ศอพท. เท่านั้น แบ่งเป็น 37 รุ่น จำนวน 148 ตัน  ขายให้ อภ. ส่วนที่เหลืออีก 60 รุ่นจำนวน237 ตัน ขายให้ รภท.ศอพท. อย่างไรก็ตามในตอนนี้ หจก. ยังมีวัตถุดิบเหลือเก็บไว้อีก 13 ตัน

จำนวนวัตถุดิบที่จำหน่ายให้กับ รภท.ศอพท.  60 รุ่นนั้นพบว่า มีปัญหา 11 รุ่น จำนวน 44 ตัน เนื่องจากพบปัญหาทางกายภาพ  ส่วนอีก 49 รุ่น จำนวน 193 ตัน ไม่มีปัญหา มีการนำไปผลิตยาแล้ววัตถุดิบ 11 รุ่น 44 ตัน

ที่มีปัญหาทางภายภาพส่งคืนกลับไปให้บริษัทในประเทศจีนหรือยัง?

มีบางส่วนยังไม่ได้ส่งคืน ยังเก็บไว้ที่ หจก.พ.เขาคงกำลังประสานงานกันอยู่  ตอนนี้กำลังตรวจสอบข้อมูลอยู่ว่ามีการส่งคืนไปแล้วกี่ตัน แต่จากข้อมูลมีการทำลายไปแล้ว 2 รุ่น  นอกจากนี้ยังมีอีก 3 รุ่นที่ หจก.พ. ขายให้กับบริษัทแห่งหนึ่งไปจำนวน6 ตันยังไม่ได้นำไปผลิต ตอนนี้เขากำลังประสานกันอยู่ว่าจะคืนอย่างไร

10 ตันที่ อภ.แบ่งขายให้กับ รภท.ศอพท.แล้วมีปัญหาทางกายภาพเป็นคนละส่วนกับ 44 ตันใช่หรือไม่?

เป็นคนละส่วนกัน

พอเจอปัญหาวัตถุดิบ อย.ต้องเข้มงวดในการสุ่มตรวจวัตถุดิบที่นำเข้ามากขึ้นหรือไม่?

เรื่องนี้มีมาตรฐานอยู่แล้ว คือ ด่านของ อย.มีกระบวนการเฝ้าระวัง  ตอนนำเข้าต้องมีหลักฐานการตรวจวิเคราะห์วัตถุดิบมาจากผู้ขาย เมื่อนำเข้ามาแล้วผู้นำเข้าก็มีกลไกการตรวจรับ  ก่อนนำไปผลิตตามกระบวนการจีเอ็มพีต้องตรวจวัตถุดิบก่อนว่าวัตถุดิบอยู่ในเกณฑ์นำไปผลิตได้หรือไม่ กระบวนการมันรัดกุมอยู่แล้วถึงได้เจอว่าวัตถุดิบมีปัญหา

มั่นใจได้อย่างไรว่าวัตถุดิบทั้งหมดจะไม่หลุดรอดออกไป?

เราได้ขอความร่วมมือกับ หจก.พ. ว่าอย่านำไปขายต่อ ตอนนี้เขาก็รอว่าถ้า อภ.คืนวัตถุดิบได้ เขาอาจจะคืนพร้อมกับ 148  ตันในส่วนของ อย.ผมให้เจ้าหน้าที่ตามตลอดทั้งในส่วนของ อภ.และ หจก.พ.  ดังนั้นถ้าจะนำยาออกจากประเทศก็ต้องแจ้ง อย. ขณะเดียวกัน อย.ได้เฝ้าระวังยาพาราเซตามอลในท้องตลาดอยู่แล้ว ดีเอสไอตั้งคำถามเรื่องมาตรฐานของวัตถุดิบ

แล้วที่ระบุว่ามีการซื้อวัตถุดิบจากบริษัทที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากลทั้ง ยูเอส เอฟดีเอ (อเมริกา) ทีจีเอ (ออส เตรเลีย) และ อีดีคิวเอ็ม (ยุโรป) ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร?

อันนี้ตอบยากเพราะไม่เห็นหลักฐาน ผมได้ข่าวมาว่าบริษัทขายไปทั่วโลก ปกติ อภ.ต้องขอหลักฐานนี้อยู่แล้ว ทางดีเอสไอขอจาก อภ.ได้ อย.จะขอหลักฐานจาก 3 หน่วยงานหรือไม่ ว่าได้รับรองจริงหรือไม่

ทำไมวัตถุดิบจึงมีปัญหาหลายลอต?

ไม่รู้วัตถุดิบมีหลายเกรดหรือเปล่า ถ้าขอก็ขอได้แต่ต้องมีเหตุมีผล อย่างไรก็ตามหากบริษัทไม่ได้รับการรับรองก็ถือว่ายื่นเอกสารเท็จ

ตอนนี้ประชาชนอาจไม่มั่นใจยาพาราเซตามอลที่ผลิตออกไป อยากให้ความมั่นใจตรงนี้ด้วย?

ผมว่ากระบวนการผลิตยามีมาตรฐานอยู่แล้ว เพราะสามารถตรวจเจอปัญหาตั้งแต่วัตถุดิบ แสดงว่ากระบวนการก่อนนำวัตถุดิบไปผลิตยาเข้มงวดถึงได้ตรวจเจอ ไม่ใช่ไปเจอภายหลังยาออกสู่ท้องตลาด ผมเชื่อมั่นและให้ความมั่นใจได้ว่ายาที่ออกไปสู่ท้องตลาดมีคุณภาพ ปลอดภัย เพราะผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน

มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับแหล่งวัตถุดิบที่ อภ.ให้การรับรองไว้ 2 แหล่ง?

มันพิสูจน์ว่ากระบวนการที่ไปรับรองแหล่งวัตถุดิบจะต้องทำบ่อย ๆ ไม่ใช่ว่าทำทีเดียวแล้วใช้ตลอดไป และไม่ควรไปมั่นใจใบรับรองอย่างเดียว ต้องมีระบบตรวจสอบด้วย

การที่วัตถุดิบมีปัญหาปนเปื้อนส่วนหนึ่งเพราะราคาถูกหรือไม่?

ไม่ใช่วัตถุดิบบางประเทศเท่านั้นที่มีปัญหา หลายประเทศก็มีปัญหา ดังนั้นต้องมีระบบตรวจสอบเข้มงวดมากขึ้น  ผมคิดว่าทุกบริษัทที่นำวัตถุดิบเข้ามาต้องตื่นตัวและเข้มงวด ไม่ใช่ไปเอาวัตถุดิบที่ไหนมาก็ได้ เพราะกระบวนการที่เราประกาศมาตรฐานจีเอ็มพีของอาเซียนยิ่งเข้มงวดมาก

บริษัทที่นำเข้าวัตถุดิบปนเปื้อนมีความผิดหรือไม่?

ถ้าผิดมาตรฐานถือว่ามีความผิด ต้องดูสาเหตุว่ามีเจตนาหรือไม่อย่างไร กรณีนี้ยังเป็นวัตถุดิบอยู่ ไม่ใช่ตัวยา ถ้าเป็นยาออกมาแล้วผิดมาตรฐานมีโทษอยู่ แต่ตอนนำเข้าเขาไม่พบว่าวัตถุดิบมีปัญหา และบริษัทไม่ได้มีเจตนาทำยาออกมาขาย คล้าย ๆ ไปซื้อมาแล้วผิดมาตรฐานก็เลิกใช้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ยังเอามาใช้อยู่ถือว่ามีความผิด แต่ถ้ายังไม่ได้นำวัตถุดิบมาใช้จะไปเอาโทษเขามันก็ประหลาดอยู่ วัตถุดิบ "ดีซี เกรด" คือ แบบผสมเสร็จมาถึงผสมสารหล่อลื่นอีกเล็กน้อย หรือไม่ผสมเลยนำเข้าเครื่องตอกเม็ดได้ทันที

มีการนำเข้ามามากน้อยเพียงใด?

เท่าที่ได้รับรายงานมีบริษัทอื่นนำดีซี เกรด เข้ามา ในยาตัวอื่นก็มี  แต่ดีซี เกรด จะมีอายุสั้นกว่า ในทางธุรกิจถ้าไม่จำเป็นเขาไม่ค่อยใช้กัน เพราะวัตถุดิบธรรมดาอายุยาวกว่า เราไม่ได้ห้ามแต่เป็นเรื่องของผู้ประกอบการที่ใช้

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 เมษายน 2556