ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ข่าวคราวเรื่องการกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นใน ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา สร้างความ เสื่อมเสียในวงการแพทย์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองเองก็ถูกบีบจากหน่วยงานราชการที่กุมเงิน บังคับให้สาธารณสุขมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติงานที่เดิมไม่เคยได้  ก็เห็นด้วยเพราะตนทำงานหนักแต่กลับไม่มีการนำงานนั้นมาคำนวณค่าตอบแทนให้เหมาะสม ส่วนฝ่ายที่ปฏิบัติงานในพื้นที่กันดารจริงๆ ก็เห็นว่าหากใช้วิธีดังกล่าว ตนเองจะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีได้อย่างไร

จริงๆ แล้วเรื่องนี้หากไม่เอาจุดประสงค์แอบแฝงเรื่องการเมืองมายึดโยงกับการเคลื่อนไหว ทางออกก็ไม่ยาก คือ "จับเข่าคุยกัน บนโต๊ะ" ซึ่งน่าจะจบได้ไม่ยาก เพราะฝ่ายการเมืองก็ต้องการให้พูดคุยเพื่อจะได้ทราบวิธีปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริงในแต่ละพื้นที่

ครั้นจะให้ฝ่ายการเมืองลาออกไป ก็คงยากเพราะฝ่ายการเมืองมองว่า ไม่ได้กระทำผิดจริยธรรม (คอร์รัปชัน) ซึ่งมองว่าการไม่เห็นด้วยกับนโยบายแล้วจะมากดดันให้ลาออก มันเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่มีใครเขาทำกัน ยิ่งไปกว่านั้น การเอาเรื่อง Medical hub มาผูกปมสร้างเรื่องว่าจะทำลายระบบสาธารณสุข ยิ่งเป็นคนละประเด็น เพราะนโยบายศูนย์กลางการแพทย์ เป็นสิ่งที่รัฐบาลในอดีตไปทำพันธสัญญาไว้ ซึ่งถ้าจำไม่ผิด รัฐมนตรีที่ลงนามขณะนั้นคือ รมว.พาณิชย์ คุณพรทิวา นาคาสัย  ซึ่งตอนลงนาม แทบไม่มีใครทราบว่าจะมีผลผูกพันให้เปิดเสรีด้านการแพทย์ด้วย

ดังนั้นการที่กระทรวงสาธารณสุขต้อง ผลักดันนโยบายศูนย์กลางการแพทย์ในเมืองไทยนั้น จึงเป็นเรื่องตกกระไดพลอยโจน เพราะหากไม่ทำ ประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็จะยกขบวนเข้ามาหยิบเค้กไปแทน ถึงตอนนั้นกระทรวงก็จะโดนตั้งคำถามว่าทำอะไรอยู่ถึงไม่เตรียมการรองรับไว้  ซึ่งสิ่งที่กระทรวง และสภาวิชาชีพต้องทำคือต้องเตรียมความพร้อมว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายนี้มีผลกระทบน้อยที่สุด และประเทศไทยไม่เสียเปรียบ ต่างชาติที่จ้องจะกระโดดเข้ามาเวทีนี้ จึงเป็นที่มาของการผลักดันให้สภาวิชาชีพรีบผลิตบุคลากรออกมารองรับ แทนที่จะปล่อยให้ ต่างชาติส่งคนของเขาเข้ามากอบโกยแล้วเอาเงินกลับประเทศโดยไทยไม่ได้อะไรเลย

กระทรวงเองก็ต้องร่วมกับสภาวิชาชีพ ผลักดันสร้างกลไกการควบคุมที่เหมาะสม แต่กลไกนั้นต้องไม่ละเมิด MOU ที่ไปลงนาม ไว้แล้ว ดังนั้นผู้คัดค้านแทนที่จะไปขับไล่ฝ่ายบริหาร ควรจะต้องส่งคนไปร่วมกับฝ่ายบริหารเพื่อให้ได้ที่นั่งห้องประชุม เพื่อนำข้อเสนอ ที่ตนคิดว่าเหมาะสมไปผลักดันให้สำเร็จ เพื่อปกป้องวิชาชีพตนเองจากต่างประเทศที่กำลังยาตราเข้ามาในอีกไม่เกินปีสองปีนี้ ซึ่งมองว่า  หากมีการเปลี่ยนแปลงหัวขบวนในการเคลื่อนไหวให้เหมาะสม น่าจะไม่ยากในการ พูดคุยกัน เพราะฝ่ายบริหารเองทั้ง รมต. และ รมช. ก็เป็นแพทย์ ซึ่งวัฒนธรรมของแพทย์นั้น คือ "พี่น้องต้องพูดคุยกันในบ้าน" แต่ น่าเสียดายที่มีการนำเรื่องการเมืองมาผูกติดกับการเคลื่อนไหวนี้

กลับมาเรื่องประเด็นค่าตอบแทน เรื่องนี้ จะว่าไปแล้วกระทรวงก็ทำพลาดที่ตัดรายได้ประจำโดยอีกฝ่ายแทบจะไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า ไหนจะค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ  ส่งเสียพ่อแม่ ที่เดิมวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เดือดร้อน ในขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีศักดิ์ศรี สมกับที่ยอมอุทิศตนไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญจริงๆ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ถึงที่สุดแล้วการปรับเปลี่ยนก็ต้องมีขึ้น เพราะนโยบายประชานิยมทำให้เงินที่อยู่ในกระเป๋าเดียวกันนั้นแทบ ไม่พอจ่าย ถึงขนาดมีข่าวโรงพยาบาลมีเลขตัวแดงติดลบกันมากมาย

และเพื่อที่จะก้าวข้ามเรื่องนี้ สิ่งที่น่าจะเคลื่อนไหวผลักดันให้เป็นรูปธรรม ไม่น่าจะมาทะเลาะกันเรื่องจะเอาหรือไม่เอา P4P แต่ควรจะเป็นเรื่องการสร้างมาตรฐานการทำงาน ที่ได้มาตรฐานกับคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน และรายได้ที่เป็นธรรม หากต้องปฏิบัติงาน เกินกว่ามาตรฐาน

ทั้งนี้ จากผลการวิจัยในหลายประเทศ ที่เจริญแล้ว เช่น อังกฤษ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ล้วนยืนยันข้อมูลตรงกันว่า ยิ่งชั่วโมงการปฏิบัติงานมากเท่าไร ความผิดพลาดในการรักษายิ่งสูงมาก จึงเป็นที่มาของการหาหนทางป้องกัน "โรคหมอทำ" (น่าจะรวม "โรคพยาบาลทำ" ไปด้วย เพราะสภาพการทำงานของพยาบาลไทยน่าจะหนักหนาสาหัสกว่าแพทย์ไทยเสียอีก) อันเป็นที่มาของคำว่า "ความผิดพลาดทางการแพทย์ ที่ป้องกันได้ หลีกเลี่ยงได้" หรือ "Avoidable/ Preventable medical error"  โดยประเทศที่เจริญแล้วแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่โดยการออกกฎหมายเงินด่วนได้ (Quick cash)หรือที่มีชื่อสวยหรูว่า "พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข" เพราะไม่ได้ลดโรคหมอทำแต่อย่างใด หนำซ้ำมีแต่จะทำให้ระบบขาดเงินที่จะมาพัฒนาป้องกันความเสียหายมากขึ้น

แต่เมื่อใช้วิธีการออกกฎหมายจำกัดชั่วโมงการทำงานให้เหมาะสม เหมือนที่จำกัดในสาวโรงงาน นักบิน วิศวกรคุมเครื่องจักร คนขับรถสาธารณะ พบว่าอัตราการเกิดโรคหมอทำลดลงอย่างชัดเจน ในอังกฤษมีระเบียบห้ามแพทย์ประจำบ้านทำงานติดต่อกันเกินกว่า 48 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ โดยผู้บริหารหลักสูตรหรือ โรงพยาบาลไม่มีสิทธิบังคับด้วย หากทำงาน เกินกำหนดต้องได้ชั่วโมงพัก(แบบห้ามตามเลย)อย่างน้อยเท่านั้นเท่านี้ชั่วโมง และในอเมริกาบางรัฐกำหนดไว้ที่ 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (หากทำงานทุกวันหมายความว่า ห้ามบุคลากรทำงานเกินกว่าสิบชั่วโมงต่อวัน) ยกเว้นกรณีจำเป็นต้องให้ปฏิบัติงานเกินกำหนดต้องขอความสมัครใจและทำได้ ไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ชั่วโมง

แน่นอนว่า การขอความสมัครใจได้มาโดยการที่สถานพยาบาลต้องปรับอัตราค่าตอบแทนการทำงานให้เหมาะสม ผลที่ตามมาคือ โรคหมอทำลดลงอย่างฉับพลัน บุคลากรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ครอบครัวมีความสุข  แรกๆ ที่มีระเบียบนี้ออกมา สถานพยาบาลและคนไข้ต้องปรับตัวอย่างมาก  สถานพยาบาลต้องจัดหาบุคลากรมาเพิ่มให้พอเพียง ไม่ใช่จ้องแต่จะลดคนเพื่อลดรายจ่าย แต่จะให้ทำงานให้ดีห้ามผิดพลาด (แบบที่รพ.รัฐทุกแห่งในปัจจุบันทำกันอยู่ โดยที่ สปสช.ไม่เคยสนใจจะแก้ปัญหาร่วมกับกระทรวง) ฝ่ายผู้ป่วยก็ต้องปรับตัวโดยการดูแลตนเองให้ดี ๆ เพราะทรัพยากรมีจำกัด (โปรดใช้สอยอย่างมีความรับผิดชอบ) ทำให้เกิดระบบคัดกรองความเร่งด่วน ระบบนัดแพทย์ ระบบการติดตามผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ แม้จะทำให้ผู้ป่วยยุ่งยากเพราะเอาแต่อำเภอใจไม่ได้ แต่ก็ทำให้ประเทศแข็งแรง ประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพตนเองเพราะไม่อยากไปเข้าคิวรอนัดตรวจ นัดผ่าตัด โดยไม่จำเป็น

ห้องฉุกเฉินได้เป็นห้องฉุกเฉินจริงๆ ไม่ใช่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก (ที่ว่างมาตรวจเฉพาะนอกเวลาราชการ)  ตัวอย่างที่ชัดเจนไม่ต้องไปเทียบกับประเทศที่ไกลปืนเที่ยง อย่างประเทศเพื่อนบ้านเรา เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็ล้วนใช้ระบบนี้ และผลที่ได้คือ ค่าตอบแทนแพทย์อยู่ในระดับสูง และเป็นแบบมีศักดิ์ศรี (ทั้งๆ ที่จริง ๆ แล้ว ระบบนี้ก็คือ การจ่ายตามภาระงานที่เพิ่มขึ้นแบบหนึ่งนั่นเอง) ที่สำคัญแพทย์ในภาครัฐที่ต้องการมีชีวิตแบบพอเพียงและสมศักดิ์ศรี ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนไปอยู่เวรทำงานในภาคเอกชน  ประเทศก็ได้ผลพลอยได้เพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อ GDP อยู่ในอัตราที่ไม่สูงเกินไป เพราะประชาชนมีหน้าที่ต้องดูแลตนเองมากขึ้น

เชื่อแน่ว่าหากบุคลากร สภาวิชาชีพ สมาคมทางการแพทย์ และสหภาพผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ (ถ้ามี) เคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม แทนที่จะไปทะเลาะกันเรื่อง จะเอาหรือไม่เอา P4P หากสำเร็จ สิ่งที่บุคลากรจะได้มาคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และรายได้ที่สมศักดิ์ศรีกับความรับผิดชอบใน ชีวิตคน (ส่วนเรื่องจะขาดคนทำงานมากน้อยแค่ไหนก็เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารต้องไป  หาทางออกร่วมกับสภาวิชาชีพกันเอง)

ผู้เขียน : นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสมาคม

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 เมษายน 2556